นางสุกุมล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม(วธ.) เปิดเผยว่า วธ. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดำเนินการออกแบบพระเมรุ และควบคุมการก่อสร้างพระเมรุและอาคารประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้มอบหมายให้กรมศิลปากร เตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดย บัดนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รูปแบบพระเมรุแล้ว และพระราชทานกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในวันที่ 9 เม.ย.2555 ดังนั้น วธ. จะเริ่มดำเนินการตามภารกิจต่างๆ โดยมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการเขียนแบบพระเมรุ และเริ่มงานก่อสร้าง อาคารประกอบ รวมทั้งองค์ประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในงานพระราชพิธี
นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากรกล่าวว่า กรมศิลปากรได้เตรียมความพร้อมในภารกิจงานพระราชพิธี 4 ด้าน ได้แก่ 1. การจัดสร้างพระเมรุ และอาคารประกอบ 2. การจัดทำหนังสือจดหมายเหตุ และหนังสือที่ระลึก 3. การบรรเลงดนตรีไทยและประโคมย่ำยาม และ 4. การจัดการแสดงมหรสพสมโภช ตามโบราณราชประเพณี และตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
พล.อ.ต. อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ร่างพระเมรุมีลักษณะคล้ายกับแบบพระเมรุของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ แต่เปลี่ยนยอดพระเมรุเป็นยอดมณฑป และมีขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย ให้เป็นไปตามพระเกียรติยศของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ ส่วนขนาดของพระเมรุนั้นได้กำหนดขนาดกว้าง 28 เมตร ยาว 30 เมตร สูง 33 เมตร โดยยกพื้น 2 ระดับ ชั้นล่างเดินได้รอบสูง 1.20 เมตร ส่วนชั้นบนที่ตั้งจิตกาธานมีความสูง 3 เมตร
“การที่ขนาดพระเมรุย่อมกว่า เพราะครั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พระศพอยู่ในหีบ ดังนั้น พื้นที่ที่จะใช้จึงมากกว่า ซึ่งครั้งนี้พระศพอยู่ในพระโกศ พระจิตกาธานจึงเล็กกว่า ส่วนการตกแต่งต่างๆ มีลักษณะคล้ายกัน สำหรับผ้าทองย่นนั้นจะนำมาจากประเทศจีน โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงรับเป็นธุระจัดหา โดยจะใช้ประมาณ 80 ม้วน ม้วนหนึ่งยาวประมาณ 70 เมตร ” พล.อ.ต.อาวุธ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปีนี้เป็นปีมหามงคลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีรับสั่งว่า ไม่ต้องการให้มีพระเมรุอยู่บริเวณท้องสนามหลวงในช่วงเวลาดังกล่าว จึงวางแผนก่อสร้างและประกอบที่สนามหลวงภายหลังจากงานเฉลิมพระชนมพรรษาในช่วงปลายธ.ค.นี้ และเริ่มการขยายแบบที่โรงละครแห่งชาติ ในทันทีก่อนนำไปประกอบภายหลัง คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือนแล้วเสร็จในปลายเดือนมี.ค. 2555
สิ่งที่ต้องดำเนินงานก่อน คือบูรณะเวชยันตราชรถ การสร้างพระโกศจันทน์ ซึ่งครั้งนี้จะใช้ไม้จันทน์จำนวนไม่มาก และการจัดสร้างพระโกศ (พระอัฐิ) ด้วยทองคำลงยา สำหรับรูปปั้นเทวดาจะใช้ของเก่าบางส่วน และจัดทำเพื่อเติมด้วย
“ส่วนช่างแทงหยวกงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ลูกหลานของนายประสม สุสุทธิ ช่างเมืองเพชรบุรี ซึ่งเป็นผู้แทงหยวกงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เนื่องจากนายประสมได้เสียชีวิตโดยได้ประสานไปยังลูกหลานทุกแจ้งมาว่าคนยินดีช่วยดำเนินการเรื่องการแทงหยวก ส่วนฉัตรที่จะใช้ประดับยอดพระเมรุนั้นเป็น “เบญจปฎลเศวตฉัตร” เป็นฉัตรขาว 5 ชั้น มีระบายขลิบทองแผ่ลวดซ้อน 2 ชั้น ใช้สำหรับพระราชวงศ์ที่ดำรงพระอิสริยยศชั้น "เจ้าฟ้า" พล.อ.ต.อาวุธ กล่าว
นายกมล สุวุฒโท อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ (สบศ.)กล่าวว่า ได้รับมอบหมายให้จัดทำศิลปกรรมประกอบพระเมรุ และร่วมกับกรมศิลปากรจัดมหรสพสมโภชในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ ซึ่งในส่วนของฉากบังเพลิงจะมีการเขียนใหม่ ขณะนี้ได้ออกแบบไว้แล้ว แต่ต้องรอการจัดสร้างสถาปัตยกรรมพระเมรุให้แล้วเสร็จก่อน
ส่วนแนวคิดจากการออกแบบจะใช้หลักการเดียวกับครั้งพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยมีทั้งฉากชั้นนอกและชั้นใน โดยชั้นนอกเป็นฉากบังเพลิง 4 ด้านของทางขึ้นและลง นำเสนอเทวดาท่ายืน 4 องค์ รวม 16 องค์ มีสัญลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ส่วนฉากบังเพลิงชั้นใน จะมีลักษณะของเทวดาส่งเสด็จขึ้นสู่สรวงสวรรค์ และจะมีการออกแบบผนังประกอบพระเมรุด้านในด้วย ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นาย สาคร โสภา และนายสนั่น รัตนะ อาจารย์ของวิทยาลัยช่างศิลป์สบศ. เป็นผู้ดำเนินการ
โพสทูเดย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น