<<<<<..... ลักษณะอากาศทั่วไป วันนี้ ( 20 มกราคม 2567 ) เวลา 06.00 น. วันนี้ถึง 06.00 น.ของวันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ....ตอนบนของภาค อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ตอนล่างของภาค อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่ อัปเดตนิวส์ รายงาน. แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา - https://www.tmd.go.th/thailand.php .....................................................>>>>

พ่อเมืองเชียงใหม่ สานพลังคนแม่แจ่ม ปลูกไม้ สร้างป่า


ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ พร้อมหน่วยงานภาคีเครือข่าย รวมพลังพลเมืองเชียงใหม่ สานพลังคนแม่แจ่ม ปลูกไม้ สร้างป่า สร้างรายได้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดลพลัส นำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน 
วันที่ 25 มิถุนายน 2560 นายปวิณ ชำนิประศาสน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้  นายเหริน ยี่เซิง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านสังคม  บริษัทประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดเชียงใหม่  สำนักขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะฯ  กลุ่มเชียงใหม่เมืองกาแฟ คณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และองค์กรภาคีเครือข่ายชุมชนพื้นที่อำเภอแม่แจ่ม  เข้าร่วมกิจกรรม รวมพลังพลเมืองเชียงใหม่ สานพลังคนแม่แจ่ม ปลูกไม้ สร้างป่า สร้างรายได้สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่บ้านแม่ขี้มูก ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่  
โดยร่วมกันปลูกพันธุ์ไม้ป่า ไม้ผล และไผ่ ประมาณ 2 หมื่นต้น เพื่อฟื้นคืนผืนป่าในพื้นที่เขาหัวโล้นอำเภอแม่แจ่ม ซึ่งในปีนี้ตั้งเป้าปลูกต้นไม้ให้ได้ 1 แสนต้น ในพื้นที่ดังกล่าว ขณะนี้ได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 3 หมื่นต้น โดยได้รับพันธุ์กล้าไม้จากศูนย์เพาะชำกล้าไม้ ที่ตั้งขึ้นในอำเภอแม่แจ่ม  โดยมีเป้าหมายร่วมกันที่จะรักษาผืนป่าที่เหลืออยู่ร้อยละ 72  ให้เป็นฐานทรัพยากรสำคัญ อาศัยข้อมูลการจัดทำแนวเขตที่ดินโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอำเภอแม่แจ่มที่ได้ดำเนินการแล้วเสร็จ เมื่อปี 2554 กำหนดแนวเขตป่าไม้และที่ดินทำกินที่ชัดเจน
ในปี 2557 ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มถูกแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 105,465 ไร่ ในปี 2554 เป็น 144,880 ไร่ ในปี 2556  ด้วยสภาพปัญหาที่ซับซ้อนและรุนแรงขึ้น คนในชุมชนจึงได้สร้างแนวทางปฎิบัติร่วมกัน รวมถึงมีหน่วยงาน ภาคีความร่วมมือจากภายนอกร่วมขับเคลื่อนแม่แจ่มโมเดล หยุดเลือดไหลของคนแม่แจ่ม พลิกฟื้นผืนป่า สร้างพื้นที่สีเขียว สร้างป่า สร้างรายได้ให้กลับคืนมาอีกครั้ง โดยนำศาสตร์พระราชา มาเป็นแนวทางบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้และที่ดิน หยุดยั้งการทำลายป่า
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้ร่วมพิธีส่งมอบกล้าพันธุ์ไม้ให้ชุมชนและปล่อยคาราวานขนกล้าไม้ให้แต่ละชุมชนนำไปปลูกในพื้นที่ของตน โดยในอนาคตจะมีการเชื่อมโยงขับเคลื่อนการทำงาน สร้างป่า สร้างรายได้ ขับเคลื่อนนโยบายระดับท้องถิ่น ออกข้อบัญญัติท้องถิ่น และขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติในการขอใช้พื้นที่ตามมาตรา 19 ต่อไป








เชียงใหม่ รณรงค์โครงการยิ่งทิ้งยิ่งท่วมหลังพบขยะในคลองกว่า15ตัน



เทศบาลนครเชียงใหม่ ร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่รณรงค์ประชาชนในเขตเมือง  “ยิ่งทิ้ง  ยิ่งท่วม” ไม่ทิ้งขยะลงแหล่งน้ำ และทางน้ำ ลดปัญหาท่ออุดตัน น้ำท่วมขังเขตเมือง หลังจากพบขยะถูกทิ้งลงคลองแม่ข่าถึง 6 จุด รวมน้ำหนักกว่า 15 ตันบางจุดกลายเป็นแพขยะขนาดใหญ่ขวางลำน้ำคลองแม่ข่ามีทั้งที่นอนเก่า ตู้เย็นเก่า เครื่องซักผ้าเก่า กล่องโฟม ถุงขยะ ขวดพลาสติก  ทำให้เกิดน้ำท่วมขังเป็นเวลานานช่วงที่ฝนตกหนัก 

นี่คือคลิบวีดีโอที่ นายวิสาขะ  ปัญญาช่วย  ผู้อำนวยการส่วนช่างสุขาภิบาล  สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ ถ่ายไว้ช่วงที่ฝนตกหนักในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ จนเกิดน้ำท่วมขังตลาดประตูก้อมซึ่งจะเห็นว่ามีขยะลอยมากับน้ำและไหลลงท่อระบายน้ำส่วนคลิบวีดีโออีกภาพหนึ่งเจ้าหน้าที่เทศบาลนครเชียงใหม่ตามเก็บขยะที่อุดตันออกจากฝาท่อระบายน้ำในชุมชนศรีปิงเมือง ซึ่งทั้งสองชุมชนเป็นพื้นที่ลุ่มจะรับน้ำจากทุกจุดในเขตเทศบาลเมืองเชียงใหม่ ก่อนที่มวลน้ำทั้งหมดจะไหลลงท่อระบายน้ำลงสู่คลองแม่ข่าและลงน้ำแม่ปิง ที่บริเวณบ้านป่าแดด อำเภอเมือง 
ด้านนายชาตรี  เชื้อมโนชาญ  รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ เปิดเผยว่า หลังฤดูฝนปีนี้ฝนตกหนักและเกิดน้ำท่วมขังในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ หลายครั้งและท่วมขังเป็นเวลานาน จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ส่วนช่างสุขาภิบาล ลงพื้นที่ตรวจสอบและหาสาเหตุ พบว่ามีขยะซึ่งส่วนใหญ่เป็นเศษถุงพลาสติก กล่องโฟมไปอุดตันตามท่อระบายน้ำ เมื่อเกิดน้ำท่วมขังทำให้การระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมล่าช้า และเมื่อใช้เครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ระบายน้ำลงคลองแม่ข่าน้ำผ่านท่อระบายก็จะดูดเศษขยะติดมาด้วยทำให้มีขยะจำนวนมากขวางทางน้ำในคลองแม่ข่า ซึ่งจากการตรวจสอบพบมีเศษขยะขวางคลองแม่ข่ารวมทั้งหมด 6 จุดประกอบด้วย ชุมชนฟ้าใหม่,ชุมชนนันทาราม,ชุมชนอุ่นอารีย์,ชุมชนคลองเงิน,ชุมชน5ธันวาทิพย์เนตร,ชุมชนประตูก้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลองแม่ข่าหลังชุมชนฟ้าใหม่ซึ่งเป็นจุดท้ายน้ำมีกองขยะลอยเป็นแพขวางทางน้ำอยู่ มีทั้งที่นอนเก่า ตู้เย็นเก่า เครื่องซักผ้าเก่า กล่องโฟมขนาดใหญ่ ถุงขยะ ขวดพลาสติก โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ใช้รถแบ็คโฮ ตักกองขยะกองดังกล่าวออกจากคลองแม่ข่าแต่กองขยะกลับถูกน้ำพัดไหลไปกับน้ำ ซึ่งหลังจากตักขยะทั้งหมดขึ้นมาจากน้ำพบว่ามีน้ำหนักกว่า 8 พันกิโลกรัม ซึ่งแต่ล่ะเดือนจะมีขยะจำนวนมากมาติดบริเวณดังกล่าว 
รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการเร่งรัดการแก้ปัญหาน้ำท่วมขังในเขตเมืองเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ ได้ขุดลอกท่อระบายน้ำ เปิดทางระบายน้ำ เสริมคันดินแม่น้ำปิง และดูดล้างท่อระบายน้ำ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันทางไหลของน้ำมาจากขยะและเศษวัสดุจำนวนมาก เช่น เศษเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ขยะจากการก่อสร้าง ยางรถยนต์เก่า และที่นอนเก่าทำให้น้ำไม่ไหล นอกจากนี้ได้จัดโครงการ “ยิ่งทิ้ง  ยิ่งท่วม” ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะลงถัง โดยได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านประธานชุมชนทั้ง 96 ชุมชนในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ นอกจากนี้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ในการทิ้งขยะ  เทศบาลนครเชียงใหม่จึงได้สร้างศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยและเกษตรอินทรีย์ขึ้น ที่สวนล้านนา ร.9  อำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อรับขยะประเภทกิ่งไม้  ใบไม้ แต่ละวันไม่น้อยกว่า 10 ตัน/วัน  รวมถึงที่นอนเก่า เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง และขยะชิ้นใหญ่ๆ  เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน  โดยไม่ต้องทิ้งลงคลองแม่ข่า ซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 3 แล้ว 
นอกจากนี้ ได้ส่งทีมงานสุขาภิบาล นำเครื่องจักรกลเปิดทางน้ำ จากจุดวัดไชยมงคล ลงสู่น้ำปิง เปิดช่องทางน้ำ จากขัวเหล็ก และจากจุดแถวมัสยิดเจริญประเทศลงสู่น้ำปิง เพื่อแก้ไขปัญหา น้ำท่วมขังย่าน ไนท์บาซ่า ช้างคลาน เจริญประเทศ ปัญหาที่พบ คือ มีขยะและเศษวัสดุจำนวนมากลงไปอุดตันในท่อ ทำให้น้ำไม่สามารถไหลได้  จากการดูดลอกท่อแล้ว ทำให้น้ำไหลได้สะดวกขึ้นมาก  โดยเฉพาะย่านกาดหลวง –ไนท์บราซ่า ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของเมืองเชียงใหม่ ได้มีการดูด ลอกท่อ ถนนเรียบน้ำปิง เปิดช่องทางน้ำไหลได้อย่างรวดเร็วขึ้น ตั้งแต่ร้านทองโอ้วจินเฮง ถึงถนนท่าแพ ซึ่งเป็นจุดรับน้ำทั้งหมดจาก จากกาดหลวง ถนนไปรษณีย์ ทะลุถนนท่าแพ ออกถนนเจริญประเทศ รวมถึง ดูดลอกท่อระบายน้ำรอบๆ กาดหลวง กาดดอกไม้  ถนนช้างม่อย  ถนนวิชยานนท์ ถนนมนตรี ถนนเทวีอุทิศ ถนนเจริญเมือง การขุดลอกลำเหมืองจุด รอบๆ หมู่บ้านทิพยรัตน์ รอบชุมชนหัวฝาย เพื่อระบายน้ำลงคลองแม่ข่าได้อย่างสะดวกขึ้น ตลาดดอกไม้ ที่พบมาก คือ เศษก้านดอกไม้ และเชือกพลาสติก เชือกฟางมัดของ และรากไม้จำนวนมาก อุดตันท่อระบายน้ำ เมื่อฝนตกบริเวณหน้าตลาดจะเกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง ทำให้เกิดปัญหาทั้งคนใช้ถนน ทั้งแม่ค้าและประชาชน  จำเป็นต้องใช้ระเบียบรักษาความสะอาดเข้าดำเนินการเพื่อให้เป็นระเบียบเรียบร้อยต่อไป สำหรับผู้ที่ต้องการนำขยะใหญ่มาทิ้ง สามารถติดต่อที่เทศบาลนครเชียงใหม่ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-259116-7 ในวันและเวลาราชการ 










The Ultimate Lanna Experience Campaign โครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสุดยอดอารยธรรมล้านนาเพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ


งานแถลงข่าวโครงการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวสุดยอดอารยธรรมล้านนาเพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ
​“The Ultimate Lanna Experience Campaign” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2559

วันพฤหัสบดีที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2560 ณ ห้องเชียงแสน ศูนย์ประชุมนานาชาติคุ้มคำ เชียงใหม่ (คุ้มขันโตก) โดยมีนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่, นายสุธน วิชัยรัตน์ ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ,ดร.กรวรรณ สังขกร หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ร่วมเเถลงข่าวโดยมีผู้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง
Ultimate Lanna ​กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะกรรมการและเลขานุการเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในการขับเคลื่อนงานด้านการท่องเที่ยวการยกระดับและพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานของการท่องเที่ยว การส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยเน้นการชูความโดดเด่นของวิถีชีวิต อัตลักษณ์ล้านนา เพื่อดึงดูดความสนใจของกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมนำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว จึงเกิดเป็นโครงการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสุดยอดอารยธรรมล้านนา เพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ “The Ultimate Lanna Experience Campaign” เพื่อพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสินค้าและบริการสู่ความเป็นสุดยอดอารยธรรมล้านนา ในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง เชียงราย และพะเยาขึ้น
โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวสินค้าและบริการสู่ความเป็นสุดยอดอารยธรรมล้านนา
2. เพื่อคัดเลือกศักยภาพเส้นทางต้นแบบ “The Ultimate Lanna  Experience Campaign”
3. เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา
4. เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว 
5. เพื่อเกิดภาพลักษณ์ที่ดีด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ
6. เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศ
โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาการท่องเที่ยว สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงใหม่ให้เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ เพื่อทำการศึกษาและคัดเลือกเส้นทางต้นแบบ พร้อมจัดทำแผนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว และการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่ข้อมูล สร้างสรรค์นวัตกรรมที่สนับสนุนการท่องเที่ยว







ตะลึง... ขุดลอกท่อระบายน้ำ คลองแม่ข่าพบขยะใหญ่ เพียบ !!!



 ตะลึง... ขุดลอกท่อระบายน้ำ คลองแม่ข่าพบขยะใหญ่ เฟอร์นิเจอร์ ที่นอนเก่า และชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมาก อุดตันทางไหลของน้ำ สาเหตุน้ำท่วมขังเขตเมือง รณรงค์สร้างจิตสำนึก เทศบาลนครเชียงใหม่เปิดศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยและเกษตรอินทรีย์ รับทิ้งขยะใหญ่ลดปัญหาท่ออุด-น้ำท่วมขังเขตเมือง 

 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้านการบริหารราชการแผ่นดิน การเตรียมความพร้อมรับมือพายุฝนฟ้าคะนองรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ให้ทุกจังหวัดติดตามสถานการณ์และเตรียมความพร้อม เร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน จังหวัดเชียงใหม่ได้ตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปี 2560 ขึ้น เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายจุด 
  จังหวัดเชียงใหม่ได้บูรณาการหน่วยงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชลประทานจังหวัดเชียงใหม่ ในการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในพื้นที่เสี่ยงและเขตเศรษฐกิจในอำเภอเมืองเชียงใหม่ เร่งรัดการแก้ปัญหาเน้นขุดลอกท่อระบายน้ำ เปิดทางระบายน้ำ เสริมคันดินแม่น้ำปิง และดูดล้างท่อระบายน้ำ พบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตันทางไหลของน้ำมาจากขยะและเศษวัสดุจำนวนมาก เช่น เศษเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ขยะจากการก่อสร้าง ยางรถยนต์เก่า และที่นอนเก่าทำให้น้ำไม่ไหล 
 “อยากให้สร้างจิตสำนึกสาธารณะรับผิดชอบร่วมกันในการทิ้งขยะ ของคนในเขตเมืองเชียงใหม่ เพื่อลดปัญหาน้ำท่วมขังในเขตเมือง โดยขณะนี้เทศบาลนครเชียงใหม่ได้นำป้ายรณรงค์ขอความร่วมมือไปติดตามจุดต่างๆ เพื่อขอความร่วมมือ สร้างความตระหนักรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน”  
  นายวิสาขะ  ปัญญาช่วย ผอ.ส่วนการช่างสุขาภิบาล เทศบาลนครเชียงใหม่  เปิดเผยว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน จึงได้สร้างศูนย์เรียนรู้ปุ๋ยและเกษตรอินทรีย์ขึ้น ที่สวนล้านนา ร.9 อำเภอเมืองเชียงใหม่ รับขยะประเภทกิ่งไม้ ใบไม้ไม่น้อยกว่า 10 ต้น/วัน รวมถึงที่นอนเก่า เฟอร์นิเจอร์ ยางรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง และขยะชิ้นใหญ่ เพื่อเป็นทางออกให้กับประชาชน ขณะเดียวกัน ได้ทำโครงการที่นอนมือสองเพื่อน้องบนดอยสูง รับบริจาคที่นอนมือสองนำมาซักใหม่ นำไปช่วยเด็กนักเรียน 
  นอกจากนี้ ในช่วงหน้าแล้งได้ทดลองเอาที่นอนใยมะพร้าวดักตะกอนในคลองแม่ข่า เพื่อกรองน้ำ ได้ผลดีมาก แต่ฤดูฝนต้องเอาออกทั้งหมดเพื่อให้คลองแม่ข่าระบายน้ำสะดวกถือเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาการทิ้งขยะขนาดใหญ่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่สาเหตุให้เกิดน้ำท่วมขังได้ 
  “สำหรับผู้ที่จำนำขยะใหญ่มาทิ้ง สามารถติดต่อที่เทศบาลนครเชียงใหม่ที่หมายเลขโทรศัพท์ 053-259116-7 ในวันและเวลาราชการ” 
 ขอบคุณภาพข่าวจาก อธิชัย ต้นกันยา / ส.ปชส.ชม. 













กิจกรรมที่จะปลุกพลังสร้างสรรค์ และกระตุ้นคลังความคิด (Creative Think Tank)



ข่าวดีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs หรือ วิสาหกิจชุมชน กับกิจกรรมที่จะปลุกพลังสร้างสรรค์ และกระตุ้นคลังความคิด (Creative Think Tank) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการเชิงนวัตกรรมและการออกแบบ (IDEA House)
โดยแบ่งเป็น 5  Workshops ฟัง/คิด/ทำ คือ  Design Marathon, From Post-it to Prototype’ LEGO Serious Play, Decoding, Consumer Mind และ Design Sprint
วันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2560 หลักสูตร Design Marathon และหลักสูตร From Post-it to Phototype
วันที่ 11 – 14 กรกฎาคม 2560 หลักสูตร LEGO Serious Play, หลักสูตร Decoding Consumer Mind และหลักสูตร Design Sprint
อย่าพลาด ไประเบิดความคิดสร้างสรรค์ กระทบไหล่กูรูหลากหลายสาขา (ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย)
อ่านรายละเอียดและสมัครออนไลน์ได้ที่ www.ideahouseworkshop.com
งานจัดวันที่ 19 – 22 มิถุนายน 2560 และ วันที่ 11 – 14 กรกฎาคม 2560
สถานที่ : โรงแรมอโมร่า ท่าแพ เชียงใหม่
สอบถามเพิ่มเติมโทร 099-138-2121 / 081-287-7617 / 053-245361-2 ต่อ 510

ผึ้งน้อยเบเกอรี่ท้าพิสูจน์ “แซนวิชหมูหยอง” ยันของแท้ 5 ดาว


ผึ้งน้อยเบเกอรี่ท้าพิสูจน์ “แซนวิชหมูหยอง”นำลงชุบน้ำ-เผาไฟ ต่อหน้าสื่อมวลชน ยืนยันมาจากหมูหยองคุณภาพระดับ 5 ดาวของแท้ 
วันที่ 9 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น. ที่บริษัท ผึ้งน้อยเบเกอรี่ จำกัด เลขที่ 9 ถ.อนุบาล 2 (หลิ่งกอก) ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายรัตน์ ปาละพงศ์ ประธานกรรมการบริษัทฯ นางผ่องพรรณ ปาละพงศ์ กก.ผู้จัดการ นางรัตนา ปาละพงศ์ รอง กก.ผู้จัดการ นางปิยฉัตร ไคร้วานิช เบอร์ทันท์ ผอ.สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ภาคเหนือ นายพยงค์ แซ่ลิ้ม เจ้าของบริษัท พี.วาย.ฟู้ด จำกัดจาก จ.สมุทรปราการ และนายยุทธนา กล้าหาญ ผจก.ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของผึ้งน้อยเบเกอรี่ แถลงต่อผู้สื่อข่าวถึงกรณีคลิปชาวจีนคนหนึ่งนำออกเผยแพร่สงสัยว่าแซนวิชไส้หมูหยองของผึ้งน้อยเบเกอรี่ เมื่อนำหมูหยองไปละลายน้ำแล้วคล้ายกับฝ้าย โดยคลิปดังกล่าวเผยแพร่ทางโซเซียลมีเดียตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคม 2560 ซึ่งบริษัทผึ้งน้อยเบเกอรี่ฯรีบตรวจสอบทุกกระบวนการขั้นตอน แล้วไปแจ้งความไว้ที่ สภ.ช้างเผือก พร้อมกับห้ามไม่ให้นำไปแชร์กันต่อๆไป เนื่องจากไม่เป็นความจริง ทำให้ได้รับความเสียหาย
 นายรัตน์ ปาละพงศ์ กล่าวว่า ผึ้งน้อยเบเกอรี่เปิดกิจการมากว่า 30 ปี เริ่มจากร้านเล็กๆถนนมูลเมืองตรงข้ามพณิชยการเชียงใหม่ โดยได้รับการอุปถัมภ์จากนายธวัช ตันตรานนท์ ประธานห้างตันตราภัณฑ์ขณะนั้นให้นำขึ้นห้าง ต่อมากิจการก้าวหน้า จึงย้ายมาอยู่ในซอยหลิ่งกอก การผลิตเริ่มจากเครื่องมือราคา 450 บาทมาจนถึงปัจจุบันเครื่องมือบางตัวมีราคากว่า 6 ล้านบาท มีพนักงานนับพันคน และสาขาเครือข่ายทั่วภาคเหนืออีก 40 แห่ง ตั้งแต่เชียงใหม่ แม่สาย จนถึงพิษณุโลก ความก้าวหน้าของผึ้งน้อยในวันนี้จึงมุ่งสู่มาตรฐานสากล เพื่อจำหน่ายไปทั่วโลก ขณะเดียวกันด้านการบริหารก็ประสบความสำเร็จ ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัยมหิดล และนิด้า เชิญนางผ่องพรรณ ปาละพงศ์ “แม่ผึ้ง” ไปบรรยายถึงการนำ “ศาสตร์พระราชา” ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้บริหาร จึงมั่นใจได้ว่าทุกกระบวนการของผึ้งน้อยเบเกอรี่ เต็มไปด้วยความใส่ใจ และผู้บริโภคไว้วางใจได้
 นางรัตนา ปาละพงศ์ กล่าวถึงกระบวนการผลิตว่า ตั้งแต่การคัดสรรวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ ต้องให้ได้คุณภาพมาตรฐาน ฝ่ายสโตร์รับวัตถุดิบมาตรวจสอบ ฝ่ายผลิตตรวจสอบก่อนนำไปผลิต เมื่อผลิตแล้วยังตรวจสอบคุณภาพ ทั้งคิวเอ คิวซี.ทุกขั้นตอนไม่มีแม้กระทั่งสิ่งปนเปื้อนในอาหาร นอกจากนั้นยังพัฒนากระบวนการทางวิชาการผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรับประกันถึงคุณภาพของผึ้งน้อยเบเกอรี่ ที่มุ่งสู่มาตรฐานสากล จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะนำสิ่งแปลกปลอมมาใช้หรือใส่ในผลิตภัณฑ์ สำหรับหมูหยองที่นำมาใช้ก็สั่งจากซัพพลายเออร์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP ที่ผู้ผลิตระดับโอทอป 5 ดาวจากสมุทรปราการส่งมาให้ โดยปกติการรับวัตถุดิบเข้ามาหากตรวจสอบไม่มีคุณภาพก็จะส่งกลับทุกรายการ แต่กรณีหมูหยองยังไม่พบความผิดปกติใดๆ
 ทางด้านการดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่คลิปหมูหยองสำลี นางรัตนา กล่าวว่า หลังจากไปแจ้งความไว้ที่ สภ.ช้างเผือก และติดตามผล ขณะนี้ทางตำรวจกำลังติดตามผู้เผยแพร่คลิปนี้อยู่ เบื้องต้นทราบว่าเป็นคนจีน เดินทางมาที่แม่สาย และนำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบ โดยก่อนหน้านั้นในประเทศจีนก็มีการนำขนมในประเทศจีนที่มีหมูหยองไปทดสอบกันและสงสัยว่าเป็นสำลี แต่ขอยืนยันว่าของผึ้งน้อยเบเกอรี่ ไม่ใช้วัตถุดิบแปลกปลอมแบบนั้นเด็ดขาด เพราะขั้นตอนที่บริษัทดำเนินการ มีการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงการกระจายสินค้า รถขนวัตถุดิบเข้ามาก็ต้องสะอาด สินค้าที่ส่งไปยัง 40 จุดก็มีความสะอาดปลอดภัยแน่นอน
 ขณะที่นายพยงศ์ แซ่ลิ้มเจ้าของหมูหยองตราโอชา กล่าวว่า ทำโรงงานหมูหยองมากกว่า 30 ปี ผลิตวันละ 10 ตัน ใช้หมูสดมาต้มแล้วใช้น้ำตาลทรายแดงกับซีอิ้วขาวเป็นส่วนประกอบ กว่าที่ตนจะเป็นผู้จัดส่งหมูหยองให้กับผึ้งน้อยเบเกอรี่ได้ ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียด และใช้เวลามาก ส่วนวัตถุดิบของตนก็ยืนยันได้ถึงคุณภาพมาตรฐานไม่มีการนำวัสดุอื่นมาปนเปื้อนเด็ดขาด เพราะได้รับขึ้นทะเบียนเป็นโอทอป 5 ดาว และยังทำแบรนด์เนมของเองในรูปหมูหยองกระป๋องโอชาอีกด้วย ส่วนการที่มีคลิปออกมาว่านำหมูหยองไปล้างน้ำแล้วกลายเป็นสำลีนั้น จะต้องพิสูจน์กันต่อหน้าสื่อ เมื่อนำลงล้างน้ำแล้วสามารถเคี้ยวกินได้ จุดไฟเผาก็มีกลิ่นเนื้อหมู ไม่ใช่กลิ่นไหม้แบบสำลี ในสายตาคนที่ไม่ได้สัมผัส อาจมองเห็นคล้ายสำลี ตรงนี้ที่เป็นเรื่องเข้าใจผิดกัน
 ทางด้าน นางปิยฉัตร ใคร้วนิช เบอร์ทันท์ กล่าวว่า สวทช.เข้ามามีส่วนตรงนี้ เพราะทำงานด้านการวิจัย และนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ส่งเสริมงานวิชาการการผลิต เห็นว่าผึ้งน้อยเบเกอรี่เป็น 1 ในตัวอย่างของผู้ประกอบการ SME ที่ผ่านการทดสอบด้านวิทยาศาสตร์ ทำได้ตรงตามมาตรฐานอาหารทุกประการ ส่วนหมูหยองที่สงสัยเป็นสำลี ก็สามารถพิสูจน์ถึงเส้นใยที่แตกต่างกันสิ้นเชิง เพียงแต่มองด้วยสายตาอาจคล้ายกัน แต่เมื่อนำเข้าทดสอบทางเคมีก็จะเห็นผลชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ผึ้งน้อยยังเป็นผู้ประกอบการตัวอย่างที่มุ่งการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากบริษัทอยู่กลางชุมชน จึงมีการระมัดระวังทั้งด้านการบำบัดน้ำเสีย และสภาพแวดล้อมต่างๆด้วย 
ส่วนนายยุทธนา กล้าผจญ กล่าวว่า การประกอบธุรกิจมีสองด้านที่มักประสบคือ วิกฤต กับโอกาส ตอนนี้ถ้ามองว่าผึ้งน้อยเบเกอรี่กำลังประสบวิกฤตจากการถูกปล่อยคลิปกล่าวหาผิด ๆ ซึ่งเรายืนยันได้ว่าไม่เคยเลยที่จะให้ข้อมูลเท็จหรือนำสิ่งที่ไม่ดีมาใช้ เรายืนยันถึงวัตถุดิบหมูหยองว่าเป็นของแท้ เมื่อเกิดเรื่องขึ้นจึงได้ชี้แจงไปทั้งในเฟสบุ้ก และไลน์แล้ว ผู้อ่านก็รับทราบ และให้กำลังใจเป็นอันมาก ด้านโอกาสนั้น ตนเห็นว่าเกิดขึ้นมาพร้อมกัน จากคนที่ไม่เคยรู้จักผึ้งน้อยก็ได้รู้จัก ว่าอยู่ที่ไหนผลิตอย่างไร แรกๆ ที่กังวลกันว่าจะมีผลเสีย กลับมีผลดีมีคนรู้จัก และเข้าใจ ทั้งยังทำให้สินค้าขายดีขึ้นอีก ตั้งแต่ 26 พฤษภาคมถึง 8 มิถุนายนที่ผ่านมามียอดขายเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะแซนวิชหมูหยอง ทางหนึ่งอาจมีคนซื้อไปพิสูจน์ ก็เป็นผลดีเพราะท้าพิสูจน์ได้อยู่แล้ว 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการแถลงข่าว ผู้บริหาร และซัพพลายเออร์ผู้ส่งหมูหยองเป็นวัตถุดิบได้นำหมูหยองมาทดลองล้างน้ำ และขยี้จนเห็นเป็นเส้นขาวคล้ายสำลี แต่เมื่อชิมดูเป็นเส้นใยหมู นายพยงค์ แซ่ลิ้มได้บอกเคล็ดลับว่า จะต้องนำหมูสดๆมาต้ม และใส่ส่วนประกอบน้ำตาลกับซีอิ้วขาวลงไปก่อนนำมาฉีก หมูสด 1 กก.เหลือเป็นหมูหยอง 3 ขีด จึงได้หมูหยองคุณภาพ นอกจากนั้นยังได้นำสำลีกับหมูหยองล้างน้ำมาจุดไฟเผาก็มีกลิ่นคนละกลิ่นกันด้วย.
ภาพ:ข่าว  ณริดา  ไชยรัตน์ ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่ " สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน








กระทรวงอุตฯ บุกเชียงใหม่ เดินหน้า “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ”


กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้า “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” 
วันที่ 2 มิถุนายน 2560 เวลา 10.00 น. ที่โรงแรมฮอลิเดย์ อินน์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” พร้อมด้วยนายกฤษณ์ ธนาวณิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการเข้าร่วมกว่า 1,000 คน โดยเร่งให้การช่วยเหลือเอสเอ็มอีครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ พร้อมการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local Economy) ทั้งด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ตลาด การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การเติมองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ให้ก้าวไปสู่ Smart SMEs และการส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ รวมทั้งการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกองทุนต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในกลุ่มภาคเหนือตอนบน ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ และน่าน เพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างครบวงจรในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ
นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 โดยผลักดันการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมจากการ “เพิ่มมูลค่า” ไปสู่การ “สร้างมูลค่า” และการสร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน (Local economy) ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง โดยการขยายการให้บริการอย่างทั่วถึงครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาดเพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การพัฒนาผู้ประกอบการโดยการเติมองค์ความรู้ในการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงินให้ก้าวสู่ SMART SMEs พร้อมส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ โดยมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกประชารัฐ
 นอกจากนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นความสำคัญด้านเงินทุน ที่จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเพิ่มศักยภาพให้เอสเอ็มอี จึงมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีในรูปแบบกองทุนต่าง ๆ ได้แก่ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐวงเงิน 20,000 ล้านบาท โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 15,000 ล้านบาท โครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท และมาตรการฟื้นฟูวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมวงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อให้ความช่วยเหลือเงินทุน และเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินให้กับเอสเอ็มอีมีเงินทุนนำไปพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าสู่แหล่งเงินในระบบทุนได้
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358
กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" Fast News สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน








สนข. ทุ่ม 6 หมื่นล้าน ดันรถไฟทางคู่เด่นชัย เชียงใหม่


สนข. โชว์ผลศึกษารถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่  ทุ่มงบกว่า 6 หมื่นล้าน ยกระดับคมนาคมขนส่ง-ท่องเที่ยวสู่ผู้นำของอาเซียน
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.60 เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเชียงใหม่ ฮิลล์ 2000 จ.เชียงใหม่  นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย–เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการที่เหมาะสม รูปแบบโครงสร้างทางรถไฟ ความคุ้มค่าและประโยชน์ของโครงการ การเวนคืนที่ดินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้สนใจ  ทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชน ในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน  
การสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสม ระยะทางรวม 189 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง  คือ ช่วงเด่นชัย –ลำปาง ระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นการสร้างทางรถไฟคู่ไปกับแนวเขตทางเดิม พร้อมปรับรัศมีโค้งของทางรถไฟเดิม เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น โดยสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 120 กม./ชม. และ ช่วงลำปาง –เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางคู่ขนานในแนวเขตทางเดิมบางส่วนและตัดแนวทางรถไฟใหม่บางส่วน เพื่อให้เป็นแนวเส้นตรงมากที่สุด โดยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ ชม. ตลอดเส้นทาง ส่วนการออกแบบโครงสร้างทางรถไฟ จะออกแบบให้สอดคล้องกับการออกแบบรถไฟทางคู่ของกระทรวงคมนาคม ที่เป็นไปตามมาตรฐานของ American Railway Engineering and maintenance – of – Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้สามารถรองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน (U20)  
ส่วนการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ พบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.06% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 291 ล้านบาท อัตาส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.01 % ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 61,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,464 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท
สำหรับมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการให้ความสำคัญกับการแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่ชุมชนและเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งของภาคเหนือ          โดยโครงการได้ออกแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบและเตรียมพร้อมเกี่ยวกับแผนการก่อสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่อาจเกิดขึ้น ส่วนมาตรการด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกเวนคืนมากที่สุด หากมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ จะส่งผลให้เส้นทางรถไฟสายเหนือมีการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สมบูรณ์มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ ที่สำคัญยังเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวการค้า และการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาคเหนือกลายเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนในอนาคตได้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางทั้งด้านอุตสาหกรรมและการคมนาคม และยังคงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง
ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนา สนข. จะนำผลสรุปที่ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ จากนั้น        จึงว่าจ้างผู้รับเหมาและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และเข้าสู่กระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อด้วยดำเนินการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลารวมประมาณ 6 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการ ได้ที่ www.denchai-chiangmai-doubletrack.com และแฟนเพจรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่
ณริดา  ไชยรัตน์  ทีมข่าว " ที่นี่....เชียงใหม่" Fast News สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน







รมว.ทส.ขึ้นเชียงใหม่ลุยถอดบทเรียนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ปี 60


ถอดบทเรียนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ปี 60 ลำปาง และตาก ค่า PM10 เพิ่มสูงเกินมาตรฐาน เกิน 10 วัน ปัจจัยความสำเร็จเกิดจาก การมีส่วนร่วมของภาคประชารัฐ การสื่อสารเชิงรุกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกหมู่บ้าน/ชุมชน  และ การนำ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารภัยแห่งชาติมาใช้อำนวยการสั่งการ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียน การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ในปี 2560 สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ในภาพรวมทั้งประเทศ จำนวนจุดความร้อน ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40 ข้อมูลการตรวจจับจุดความร้อนโดยดาวเทียม MODIS ในห้วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 พ.ค. 60 ทั้งประเทศพบ 15,961 จุด พื้นที่เกิดสูงสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4,234 จุด พื้นที่เกษตร 4,104 จุด ป่าอนุรักษ์ 3,384 จุด พื้นที่ริมทางหลวง (250 เมตร) 1,610 จุด ชุมชนและอื่นๆ 1,405 จุด เขต สปก. 1,224 จุด สำหรับ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในห้วงเดียวกัน พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 5,409 จุด แยกเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2,410 จุด ป่าอนุรักษ์ 2,106 จุด พื้นที่ริมทางหลวง (250 เมตร) 260 จุด ชุมชนและอื่นๆ 256 จุด เขต สปก. 182 จุด พบมากที่สุดใน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ลำพูน แพร่ พะเยา และเชียงราย ตามลำดับ
“จังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เพิ่มสูงขึ้น เกิน 10 วัน ได้แก่จังหวัดลำปาง และตาก แต่ไม่ได้สูงขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญ ที่ลำปาง โดยเฉพาะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบ้านดง อำเภอแม่เมาะ เนื่องจากเป็นแนวเขา จังหวัดตากพบจุดความร้อนมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เนื่องจากการก่อสร้างสนามกีฬาให้เครื่องวัด ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบจุดความร้อนมากตามแนวตะเข็บชายแดนพัดเข้ามาในพื้นที่จึงทำให้ค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น จังหวัดเชียงรายก็เช่นกัน และจังหวัดลำพูน จุดความร้อนไม่ลดลง ทิศทางลมพัดเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ความสำเร็จของหลายจังหวัด คือ การจัดทีมเข้าดับไฟได้เร็ว”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวสรุปในการประชุมครั้งนี้ ว่า ปัจจัยความสำเร็จของการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ ในปีนี้ เกิดจาก 1. การนำ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาใช้อำนวยการสั่งการ 2. การจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้ภูมิปัญญา ในช่วงเวลาการเผาที่เหมาะสม 3. การควบคุมพื้นที่ วางกำลังบูรณาการเข้าดับไฟ โดยใช้เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ด้วยความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำมาซึ่งความสำเร็จ 4. การรณรงค์สร้างจิตสำนึก ในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งประชาชนในพื้นที่ บริษัท ห้างร้านในเมือง เน้นการมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และร่วมดับไฟป่า เพราะปัญหาหมอกควันเป็นเรื่องไร้พรมแดน ไร้ชนชั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน 5. การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่อยากทำ แต่เมื่อมีผู้ไม่เคารพกติกาก็ต้องจับกุม โดยในปีนี้ จับกุมไป 220 คน 6. การทำงานร่วมกัน ของทุกภาคส่วน สร้างเครือข่ายคนดีมีกำลังใจ โดยในปีต่อไปอยากเห็นคนไทยร่วมกันทำความดีจนคนชั่วไม่มีที่ยืน คนไทยต้องรักษาแผ่นดินมรดกส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคต และ 7. การนำบทเรียนไปใช้เป็นองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาปีต่อไป
สำหรับการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอควันไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ ในปี 2561 จะไม่มีการจัดสรรงบกลางให้เหมือนทุกปีผ่านมา โดยแหล่งงบประมาณมาจาก 1. การนำเสนอแผนงานตามยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2. แผนบูรณาการขยะและสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ และ 3. ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระดับประเทศ รวมแล้วประมาณ 700 ล้านเศษ ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะสามารถใช้ได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งจะไม่มีปัญหางบประมาณล่าช้าอีกต่อไป
กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน