<<<<<..... ลักษณะอากาศทั่วไป วันนี้ ( 20 มกราคม 2567 ) เวลา 06.00 น. วันนี้ถึง 06.00 น.ของวันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ....ตอนบนของภาค อากาศเย็นถึงหนาวกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศาเซลเซียส ตอนล่างของภาค อากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 16-23 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศาเซลเซียส บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 4-12 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-15 กม./ชม. กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่ อัปเดตนิวส์ รายงาน. แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา - https://www.tmd.go.th/thailand.php .....................................................>>>>

รองนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในลำน้ำปิง



รองนายกรัฐมนตรี ห่วงใยประชาชนในเรื่องของการใช้น้ำอุปโภค-บริโภค ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้ง และแนวทางแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในลำน้ำปิง ภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี คาดมีน้ำใช้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคม

    เมื่อวันที่ 25 ม.ค.63   ที่ประตูระบายน้ำท่าวังตาล ตำบลป่าแดด อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมรับฟังบรรยายสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหาภัยแล้งในลำน้ำปิง โดยมี นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วยส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรายงานผลการดำเนินการที่ผ่านมา
    รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ห่วงใยประชาชนในเรื่องของน้ำใช้อุปโภค-บริโภค แต่จากการฟังบรรยายสรุป ทราบว่าทางชลประทานจัดการน้ำได้ดีอยู่แล้ว และสามารถที่จะมีน้ำใช้ดูแลประชาชนได้ไปจนถึงเดือนกรกฎาคมนี้อย่างแน่นอน ขณะเดียวกันขอความร่วมมือเกษตรกรจัดสรรการใช้น้ำ ในด้านเกษตรกรให้เหมาะสมแต่ละพื้นที่ ซึ่งในภาพรวมการจัดสรรน้ำของจังหวัดเชียงใหม่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ในส่วนของการช่วยเหลือประชาชน ได้ดำเนินการขุดบ่อบาดาลไปแล้ว 541 บ่อทั่วประเทศ ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยเหลือประชาชนในการใช้น้ำประปา และทำให้ประชาชนไม่เดือดร้อนในเรื่องของการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคอีกด้วย
      ทั้งนี้ ประตูระบายน้ำท่าวังตาล หรือประตูระบายน้ำป่าแดด เป็นเขื่อนทดน้ำเพื่อทดน้ำในลำน้ำปิงให้สูงขึ้น สามารถทดน้ำได้ ประมาณ 6.5 เมตร จากท้องน้ำ กักเก็บน้ำ สูงสุด 2 ล้านลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันเก็บน้ำไว้ ที่ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อนำไปใช้ในการอุปโภค บริโภค ผลิตน้ำประปา รักษาระบบนิเวศ และเพื่อทำการเกษตรตลอดลำน้ำปิง รวมทั้งบรรเทาปัญหาน้ำเน่าเสียจากคลองแม่ข่าที่ปล่อยลงสู่ลำน้ำปิง โดยการระบายน้ำดี เพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำเสีย ปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น ประตูระบายน้ำแห่งนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เป็นประตูระบายน้ำตัวแรกที่จะบริหารจัดการน้ำระหว่างเขื่อนแม่งัด สมบูรณ์ชล กับพื้นที่ทางตอนล่าง โดยจะทำการทดน้ำไว้และจัดรอบเวรการใช้น้ำ จากนั้น ทำการปล่อยเป็นล็อตใหญ่ลงไป เพื่อจะโรยน้ำลงไปให้ถึงผู้ใช้น้ำตอนท้ายของประตูระบายน้ำ

สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม // ภาพ-ข่าว  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
กมล เครือนิล ทีมข่าว ที่นี่....เชียงใหม่ สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน












กองทัพภาคที่ 3 แถลงผลการปฏิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ



กองบัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า แถลงผลการปฏิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ วันนี้ (21 ม.ค. 63) พลตรี จิรเดช กมลเพ็ชร รองแม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะรองผู้บัญชาการควบคุมสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ กองทัพภาคที่ 3 ส่วนหน้า พร้อมด้วย นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงผลการปฏิบัติงานการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ณ ศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่า ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยจังหวัดที่มีผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดลำพูน แพร่ และจังหวัดตาก ส่วนจังหวัดที่มีผลกระทบน้อยที่สุด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และจังหวัดเชียงราย จุดความร้อนสะสมในพื้นที่ 9 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1 – 20 มกราคม 2563 พบว่า มีจำนวน 3,506 จุด ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในเขตป่าอนุรักษ์และเขตป่าสงวน ส่วนผลการปฏิบัติงานในห้วงที่ผ่านมาของ 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้มีการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนในพื้นที่ห่างไกลและชุมชนเสี่ยง โดยได้ดำเนินการเข้าพบปะและเคาะประตูบ้าน พร้อมการประชาสัมพันธ์ผ่านหอกระจายข่าว ผ่านวิทยุชุมชน และผ่านเครื่องบินกระจายเสียง peacemaker จากกองทัพอากาศ และจัดทำสปอตประชาสัมพันธ์ ร่วมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยในพื้นที่ ในส่วนของเขตพื้นที่เมือง มีการประชาสัมพันธ์ภาพอินโฟกราฟฟิก ผ่านจอ LED ตามจุดสำคัญของจังหวัด พร้อมทั้งนำเสนอข่าวผ่านสื่อมวลชนทุกแขนง นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดชุดดับไฟป่าในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 591 ชุด และกองทัพภาคที่ 3 ได้จัดเตรียมชุดดับไฟป่าเพื่อสนับสนุนทุกจังหวัดอีก จำนวน 194 ชุด ซึ่งพร้อมปฏิบัติเมื่อจังหวัดร้องขอ ทั้งยังมีการสร้างความชุ่มชื้นในอากาศและการชะล้างฝุ่นละอองขนาดเล็กที่สะสม โดยใช้รถฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ และจัดพื้นที่เซฟตี้โซน (Safty Zone) พร้อมเตรียมการในเรื่องการรักษาพยาบาล และการแจกจ่ายหน้ากากป้องกัน ฝุ่นละอองให้กับประชาชน ล่าสุดได้มีการจัดทำแอปพลิเคชัน AirCMI เพื่อแสดงปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 แบบเรียลไทม์ จากเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศที่ติดตั้งในจังหวัดเชียงใหม่มากกว่า 200 จุด เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ค่าของฝุ่นและหาทางป้องกันตัวเองได้อีกด้วย ทั้งนี้ การดำเนินงานแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2563 ทุกภาคส่วนจะบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งนำประชาชนจิตอาสาพระราชทานเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาในทุกขั้นตอน โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น Single Command เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่โล่งทุกพื้นที่ ทั้งพื้นที่ป่า พื้นที่ทางการเกษตร พื้นที่ชุมชน และพื้นที่ 2 ข้างทาง รวมถึงควบคุมไม่ให้ปริมาณฝุ่นละอองสูงเกินเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนในพื้นที่ ที่สำคัญทุกภาคส่วนจะต้องสร้างการรับรู้เรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นควันให้ประชาชนได้เข้าใจกันมากที่สุด พยุงศักดิ์ เทพแก้ว/นันธิกา กิจปาโล ข่าว-ภาพ กมล เครือนิล ทีมข่าว ที่นี่....เชียงใหม่ สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน









กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ติดตามการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ที่จังหวัดเชียงใหม่



คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ที่จังหวัดเชียงใหม่ มั่นใจ ชาวเชียงใหม่จะมีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง

เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 63 คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำปิงตอนบน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมด้วย นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยกา รสำนักงานชลประทานที่ 1 ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในสังกัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้การต้อนรับ
      คณะกรรมาธิการฯ ได้เดินทางไปดูพื้นที่ ที่จะใช้ก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่ลาย ในตำบลห้วยแก้ว อำเภอแม่ออน  เพื่อใช้กักเก็บน้ำสำหรับการเกษตรและการประปาในพื้นที่ โดยจะสร้างเป็นอ่างเก็บน้ำขนาด 5 ล้านลูกบาศก์เมตร วงเงินงบประมาณ 830 ล้านบาท ซึ่งหากได้รับการอนุมัติ จะเริ่มก่อสร้างได้ภายในปี 2565 ขณะเดียวกัน ยังได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำภายในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา  อำเภอดอยสะเก็ด ซึ่งเป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัดเชียงใหม่ โดยพบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำลดลงเหลือเพียง 73 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 27 ของความจุเขื่อน ซึ่งนับว่าน้อยมาก แต่ยังคงเพียงพอต่อการใช้น้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภคบริโภค และการรักษาระบบนิเวศ ในช่วงหน้าแล้ง
     นายวีระกร คำประกอบ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ  กล่าวว่า ในปีนี้เป็นปีที่ทั่วทุกพื้นที่ของประเทศไทยต่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก บางพื้นที่ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างเริ่มขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคบ้างแล้ว แต่โชคดีที่แม่น้ำปิง ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งต้นน้ำ มีน้ำจากแหล่งน้ำต่างๆ หลายสายมารวมกัน เช่น เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา ฝายแม่แตง รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดต่างๆ  ประกอบมีการบริหารจัดการน้ำที่ดีจากสำนักงานชลประทานที่ 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะเพียงพอต่อพี่น้องประชาชนตลอดช่วงหน้าแล้งนี้
     นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังมีแนวคิดที่จะกักเก็บน้ำที่ไหลจากแม่น้ำกก แม่น้ำอิง และแม่น้ำน่าน มาใช้ในช่วงหน้าแล้ง ซึ่งปกติแล้วจะถูกปล่อยไหลลงสู่แม่น้ำโขง โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน ดังนั้น จึงต้องการที่จะผันน้ำจากแม่น้ำทั้ง 3 สาย เข้ามากักเก็บไว้ในเขื่อนสิริกิติ์ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากเกิดภัยแล้งในอนาคต ซึ่งจะทำการศึกษาความเป็นไปได้ต่อไป

พยุงศักดิ์ เทพแก้ว / ธนวัฒน์ ชีพเพียงสรวง ... ภาพ / ข่าว สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
กมล เครือนิล ทีมข่าว “ที่นี่....เชียงใหม่” สำนักข่าว เชียงใหม่ อัปเดตนิวส์ รายงาน













เปิดอย่างยิ่งใหญ่ เทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 37



เปิดอย่างยิ่งใหญ่ เทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 37 ประจำปี 2563 อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของล้านนา ส่งเสริมการท่องเที่ยว หวังกระตุ้นเศรษฐกิจเทศบาลเมืองต้นเปา

เมื่อค่ำวันที่ 17 ม.ค. 63  ที่บริเวณหมู่บ้านบ่อสร้าง ตำบลต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ นายวิรุฬ พรรณเทวี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดงานเทศกาลร่มบ่อสร้างและหัตถกรรมสันกำแพง ครั้งที่ 37 ประจำปี 2563 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 17-19 มกราคม 2563 เพื่ออนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่นของล้านนา ส่งเสริมการประกอบอาชีพด้านศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของประชาชน เสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจให้เชื่อมโยงกับสังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม โดยนำเอาแนวทางเศรษฐกิจชุมชนมาเป็นหลัก ทำให้ราษฎรมีงานทำอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ท้องถิ่นเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรม โดยมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมงานอย่างคับคั่ง
    นายปราการ ขันปัญญา ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีเมืองต้นเปา กล่าวว่า ตำบลต้นเปา
เป็นตำบลที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งของงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านประเภทต่างๆ ทั้งงานทอผ้า งานแกะสลักและผลิตภัณฑ์จากไม้ งานจักสาน งานศิลปะกระดาษสา งานโคมและงานร่มบ่อสร้าง ซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์บ่งบอกความเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในตำบลต้นเปา เป็นอาชีพหลักของราษฎรในท้องถิ่นที่ประกอบอาชีพด้านนี้มาช้านาน และหมู่บ้านบ่อสร้าง ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในเขตเทศบาลเมืองต้นเปา มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมทั่วโลก ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวไทยและชาวต่างประเทศที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเซียใหม่ ปัจจุบันหลายแห่งในพื้นที่ตำบลต้นเปา ประสบกับสภาวะเศรษฐกิจซบเซา การจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นักท่องเที่ยวน้อย ส่งผลให้อาชีพการทำหัตถกรรมต่างๆ ในพื้นที่เริ่มลดลง ร้านค้าเริ่มปิดตัวลง  จากปัญหาดังกล่าว เทศบาลเมืองต้นเปา จึงได้จัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองต้นเปา ประจำปี 2563 ขึ้น เพื่อส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์วัฒนธรรมและศิลปะหัตถกรรมให้คงอยู่สืบไป
    ภายในงานมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวมากมาย อาทิ กาดหมั้วคนเมือง จำหน่ายอาหารพื้นเมืองประเภทต่างๆ การสาธิตและการจำหน่ายสินค้าหัตถกรรม การสาธิตการทำร่มบ่อสร้าง กระดาษสาบ้านต้นเปา และโคมบ้านหนองโค้ง การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำร่มกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย การตกแต่งหน้าร้าน ซุ้มซอย จุดถ่ายรูป และการแสดงศิลปวัฒนธรรมต่างๆ สำหรับไฮไลท์ที่สำคัญ คือ ขบวนแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง โดยจะมีการปั่นโชว์วันละ 2 รอบ ในเวลา 10.00 น. และ 14.00 น. โดยเทศบาลเมืองต้นเปาจัดรถรางคอยบริการนักท่องเที่ยวไปชมตามจุดต่างๆ ของงาน จึงขอเชิญชวนประชาชนและนักท่องเที่ยว ร่วมเที่ยวชมงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ประจำปีงบประมาณ 2563 ของตำบลต้นเปา ได้ จนถึงวันที่ 19 มกราคมนี้
ภาพ-ข่าว : นันธิกา กิจปาโล / สุดาภรณ์ อินต๊ะธรรม / กาญจนา บุญมี / วิชญ์พล สุวรรณไพโรจน์



























พ่อเมืองเชียงใหม่ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสถานการณ์หมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5




พ่อเมืองเชียงใหม่ประชุม​หน่วยงานเกี่ยวข้อง​เกี่ยวข้องเกี่ยว​กับการแก้ไขปัญหา​สถานการณ์​หมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​PM2.5 

เมื่อเวลา 10.00​น. ของ​วันที่​ 15 มกราคม​ 2563 ที่ศูนย์​ประชุม​เฉลิมพระเกียรติ​ 80 พรรษา อ.เมือง​ จ.เชียงใหม่​ นายเจริญ​ฤทธิ์​ สงวนสัตย์​ ผู้​ว่าราชการ​จังหวัด​เชียงใหม่​ ได้เรียกประชุม​หน่วยงานเกี่ยวข้อง​เกี่ยวข้องเกี่ยว​กับการแก้ไขปัญหา​สถานการณ์​หมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​PM2.5 รวมถึงได้มีการประชุม​แบบวิดิโอ​ทาง​ไกล​หรือคอนเฟอร์เร้นท์​ กับนายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ ของจังห​วัด​เชียงใหม่​ นอกจากนี้ยังมีการเชิญสื่อมวลชน​เข้ารับฟังด้วย
โดย​ในการประชุม​วันนี้​ทางผู้​ว่าราชการ​จังหวัด​เชียงใหม่​ ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานและนายอำเภอ​ปฏิบัติ​ตามมาตรการ​ที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทั้งเรื่องควบคุมการเผา การบริหารการจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่​ และการเร่งประชาสัมพันธ์​เกี่ยวกับ​นโยบายของจังหวัดเชียงใหม่​เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหา​สถานการณ์​หมอกควันไฟป่าและฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​ เพื่อให้ประชาชน​ในทุกพื้นที่ของจังห​วัด​เชียงใหม่​ เข้าใจถึงสถานการณ์​และแนวทางการแก้ไขปัญหา​ของจังหวัดเชียงใหม่​อย่างตรงกัน เนื่องจากว่าในปีนี้ทางจังหวัด​เชียงใหม่​จะใช้มาตรการ​ทางกฎหมาย​อย่างเข้มข้น และไม่มีข้อยกเว้นหากมีการประกาศห้ามเผาโดยเด็ดขาด และทางผู้ว่าราชการ​จังหวัด​เชียงใหม่​ก็มีได้เน้นย้ำกับสำนักงาน​สาธารณสุข​จังหวัด​เชียงใหม่​ ในเรื่องของการดูแลผู้ที่อยู่ในกลุ่ม​เสี่ยง​หลังสำนักงาน​สาธารณสุข​จังหวัด​เชียงใหม่​แจ้งว่าในปีนี้มีผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง ที่ทางสำนักงาน​สาธารณสุข​จังหวัด​เชียงใหม่​มีข้อมูลจากการสำรวจ​อยู่​ทั้งหมดประมาณ​ 500,000 คน ซึ่งประกอบด้วย 5 กลุ่มหลักคือ 1.ผู้สูงอายุ​ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 2.สตรีมีครรภ์​ 3.ผู้ป่วยโรคหอบหืด 4.ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ และ5.ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดและหัวใจ
นอกจากนี้ทางผู้ว่าราชการจังหวัด​เชียงใหม่​ ยังมีการเปิดตัวแอพพลิเคชั่น​ "Aircmi" ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่น​ที่ทางจังหวัด​เชียงใหม่​กับมหาวิทยาลัย​เชียงใหม่​ ได้ร่วมกันพัฒนา​ขึ้น​ เพื่อใช้ในการตรวจสอบค่าฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​PM2.5 อย่างถูกต้องและแม่นยำ เพื่อให้ประชาชน​ชาว​เชียงใหม่​สามารถตรวจสอบสถานการณ์​ฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​ได้ตลอด 24 ชั่วโมง​
โดยนายเจริญ​ฤทธิ์​ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัด​เชียงใหม่​ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าสถานการณ์​ในปีนี้จะดีขึ้น เนื่องจากว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาทางจังหวัด​เชียงใหม่​ก็ได้มีการ​เตรียม​พร้อม และประชุม​วางแนวทางการทำงานกันตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของการถอดบทเรียน​ปี​ที่แล้ว​ มาเรียนรู้​และพัฒนาการทำงานในปีนี้ ขอให้พี่น้องประชาชน​มั่นใจว่า ในปีนี้จังหวัด​เชียงใหม่​จะผ่านพ้นวิกฤติไปได้แน่นอน และในเรื่อง​ของการใช้กฏหมายห้ามเผา แน่นอนว่าปีนี้จังหวัดเชียงใหม่​จะดำเนินการอย่างเด็ดขาด ไม่มีข้อยกเว้นใดๆทั้งสิ้น และการขอนุญาต​เผานั้นจะต้องแจ้งนายอำเภอ​ในท้องที่ของตนเอง โดยการอนุญาต​เผานั้นจะดปิดระยะเวลาให้ถึงแค่ 15 มีนาคม​นี้เท่านั้น
ขณะที่สถานการณ์​หมอกควันไฟและฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​PM2.5 ของจังห​วัด​เชียงใหม่​ในวันนี้ พบว่ายังมีกลุ่มหมอกควันสีขาวปกคลุม​ในตัวเมืองเชียงใหม่​แบบเบาบาง โดยการวัดค่าฝุ่นละออง​ขนาดเล็ก​PM2.5 โดยแอพพลิเคชั่น​ "AirCMI" พบว่า ที่สถานี​วัดค่าในอ.เมือง​เชียงใหม่​ มีค่าฝุ่น​ละออง​ขนาดเล็ก​PM2.5 อยู่​ที่ 46 ไมโครกรัม​ต่อ​ลูกบาศก์​เมตร​ จัดอยู่ในโซนสีเหลือง เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ