ถอดบทเรียนแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ปี 60 ลำปาง และตาก ค่า PM10 เพิ่มสูงเกินมาตรฐาน เกิน 10 วัน ปัจจัยความสำเร็จเกิดจาก การมีส่วนร่วมของภาคประชารัฐ การสื่อสารเชิงรุกเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกหมู่บ้าน/ชุมชน และ การนำ พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารภัยแห่งชาติมาใช้อำนวยการสั่งการ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2560 พลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในเวทีการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียน การป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ที่จังหวัดเชียงใหม่ ว่า ในปี 2560 สถานการณ์หมอกควันและไฟป่า ในภาพรวมทั้งประเทศ จำนวนจุดความร้อน ลดลงจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40 ข้อมูลการตรวจจับจุดความร้อนโดยดาวเทียม MODIS ในห้วงวันที่ 1 ม.ค. – 15 พ.ค. 60 ทั้งประเทศพบ 15,961 จุด พื้นที่เกิดสูงสุดในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4,234 จุด พื้นที่เกษตร 4,104 จุด ป่าอนุรักษ์ 3,384 จุด พื้นที่ริมทางหลวง (250 เมตร) 1,610 จุด ชุมชนและอื่นๆ 1,405 จุด เขต สปก. 1,224 จุด สำหรับ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ในห้วงเดียวกัน พบจุดความร้อนทั้งสิ้น 5,409 จุด แยกเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ 2,410 จุด ป่าอนุรักษ์ 2,106 จุด พื้นที่ริมทางหลวง (250 เมตร) 260 จุด ชุมชนและอื่นๆ 256 จุด เขต สปก. 182 จุด พบมากที่สุดใน จ.แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ ลำปาง น่าน ลำพูน แพร่ พะเยา และเชียงราย ตามลำดับ
“จังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน เพิ่มสูงขึ้น เกิน 10 วัน ได้แก่จังหวัดลำปาง และตาก แต่ไม่ได้สูงขึ้นแบบมีนัยยะสำคัญ ที่ลำปาง โดยเฉพาะที่สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศบ้านดง อำเภอแม่เมาะ เนื่องจากเป็นแนวเขา จังหวัดตากพบจุดความร้อนมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เนื่องจากการก่อสร้างสนามกีฬาให้เครื่องวัด ส่วนที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนพบจุดความร้อนมากตามแนวตะเข็บชายแดนพัดเข้ามาในพื้นที่จึงทำให้ค่าเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้น จังหวัดเชียงรายก็เช่นกัน และจังหวัดลำพูน จุดความร้อนไม่ลดลง ทิศทางลมพัดเข้ามายังจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ความสำเร็จของหลายจังหวัด คือ การจัดทีมเข้าดับไฟได้เร็ว”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวสรุปในการประชุมครั้งนี้ ว่า ปัจจัยความสำเร็จของการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ ในปีนี้ เกิดจาก 1. การนำ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาใช้อำนวยการสั่งการ 2. การจัดการเชื้อเพลิงโดยใช้ภูมิปัญญา ในช่วงเวลาการเผาที่เหมาะสม 3. การควบคุมพื้นที่ วางกำลังบูรณาการเข้าดับไฟ โดยใช้เครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่เป็นหลัก ด้วยความพร้อมเพรียงของหมู่คณะนำมาซึ่งความสำเร็จ 4. การรณรงค์สร้างจิตสำนึก ในทุกกลุ่มเป้าหมาย ทั้งประชาชนในพื้นที่ บริษัท ห้างร้านในเมือง เน้นการมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง แจ้งเตือน และร่วมดับไฟป่า เพราะปัญหาหมอกควันเป็นเรื่องไร้พรมแดน ไร้ชนชั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน 5. การบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งจริงๆ แล้วไม่อยากทำ แต่เมื่อมีผู้ไม่เคารพกติกาก็ต้องจับกุม โดยในปีนี้ จับกุมไป 220 คน 6. การทำงานร่วมกัน ของทุกภาคส่วน สร้างเครือข่ายคนดีมีกำลังใจ โดยในปีต่อไปอยากเห็นคนไทยร่วมกันทำความดีจนคนชั่วไม่มีที่ยืน คนไทยต้องรักษาแผ่นดินมรดกส่งต่อให้ลูกหลานในอนาคต และ 7. การนำบทเรียนไปใช้เป็นองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาปีต่อไป
สำหรับการจัดสรรงบประมาณในการแก้ไขปัญหาหมอควันไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ ในปี 2561 จะไม่มีการจัดสรรงบกลางให้เหมือนทุกปีผ่านมา โดยแหล่งงบประมาณมาจาก 1. การนำเสนอแผนงานตามยุทธศาสตร์จังหวัดและกลุ่มจังหวัดต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 2. แผนบูรณาการขยะและสิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพ และ 3. ค่าใช้จ่ายในการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจระดับประเทศ รวมแล้วประมาณ 700 ล้านเศษ ซึ่งเมื่อผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะสามารถใช้ได้ทันที ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม เป็นต้นไป ซึ่งจะไม่มีปัญหางบประมาณล่าช้าอีกต่อไป
กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น