<<<<<..... ลักษณะอากาศทั่วไป วันนี้ ( 20 มกราคม 2568 ) เวลา 06.00 น. วันนี้ถึง 06.00 น.ของวันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ....อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส   บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.  กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่ อัปเดตนิวส์ รายงาน. แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา - https://www.tmd.go.th/thailand.php .....................................................>>>>

23 มี.ค. 2561

แม่ทัพภาคที่ 3 ติดตามผลการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ



แม่ทัพภาคที่ 3 ติดตามผลการแก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า 9 จังหวัดภาคเหนือ พร้อมกำชับให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยประกาศปิดป่าแบบมีเงื่อนไข ตั้งแต่ 25 – 31 มี.ค.นี้ ต้องขออนุญาตเข้าไปหาของป่า และห้ามพกพาสิ่งที่ทำให้เกิดไฟ ขณะที่ ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ วอนผู้เผา “ไม้ขีดก้านเดียว” จะส่งผลร้ายต่อคนเชียงใหม่ทั้งหมด  

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 ที่ ค่ายพระปิ่นเกล้า อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาค ประชุมรับฟังผลการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน 9 จังหวัดภาคเหนือ ประจำปีงบประมาณ 2561 โดยมี แม่ทัพน้อยที่ 3 , ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 , ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ , ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย , ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา , ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ , รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน , รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง , รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และปลัดจังหวัดตาก พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม เพื่อรับทราบแนวทางการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
จากการตรวจพบจุดความร้อนสะสม หรือ Hotspot ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ ในปีงบประมาณ 2561 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2561 ถึงปัจจุบัน  พบว่า ภาคเหนือมีค่าฝุ่นละออง PM10 และค่าคุณภาพอากาศเกินมาตรฐานไปแล้ว (ไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จำนวน 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ , จังหวัดลำพูน , จังหวัดลำปาง , จังหวัดแพร่ และจังหวัดตาก ซึ่งห้วงเดือนมีนาคมปีนี้ (นับถึง 22 มี.ค.61) ในพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือ เกิดจุด Hotspots จำนวน 2,378 จุด คิดเป็น 31.64 % จากสถิติเดือนมีนาคมของปีที่ผ่านมา ตรวจพบจุด Hotspots ทั้งสิ้น 3,257 จุด ซึ่งคาดว่าการเกิด Hotspots จะลดลงจากปี 2560 ประมาณ 35 – 40%

ด้าน พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 ในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์อำนวยการ ป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับภาค กล่าวว่า ในปีนี้ต้องขอชื่นชมทั้ง 9 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือที่คุณภาพอากาศ PM 10 ที่เกินค่ามาตรฐานน้อยกว่าปี 2560 ทุกจังหวัด แต่ก็ยังมีบางวันที่เกินอยู่บ้างนิดหน่อย ไม่สูงเหมือนปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการประชุมหารือ พบว่าแต่ละจังหวัดจะมีปัจจัยการเกิดฝุ่นละอองแตกต่างกัน ทั้งการก่อสร้างต่างๆจำนวนมาก เช่น อาคาร ถนน สนามบิน สาธารณูปโภค หรือ สภาพภูมิประเทศของบางจังหวัดที่เป็นแอ่งกระทะ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีการเผาจากภาคประชาชนที่ยังเข้าใจว่าต้องเผาแล้วเห็ดจะขึ้น ดังนั้นจึงขอใช้อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ปิดป่าแบบมีเงื่อนไขเป็นเวลา 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 – 31 มีนาคมนี้ หากประชาชนท่านใดมีความประสงค์จะเข้าป่า ต้องไปแจ้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ต้นน้ำ หรือเจ้าหน้าที่กรมอุทยานที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อขออนุญาตเข้าไปหาของป่า แต่ห้ามพกพาวัสดุที่จะทำให้เกิดไฟเข้าไปอย่างเด็ดขาด ส่วนประกาศของทั้ง 9 จังหวัด ก็ยังคงมีการปฏิบัติในช่วงเวลาห้ามเผาตามเดิม

นอกจากนี้ ได้ขอให้ทุกจังหวัดเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนันผู้ใหญ่บ้าน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันรณรงค์ให้ประชาชนจิตอาสาและพลังมวลชนในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำการลาดตระเวน เฝ้าระวัง และกำจัดเศษวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงริมทาง เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า หากมีผู้ตั้งใจกระทำการเผาป่า จะให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเฉียบขาด เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เพราะเราถือว่าได้ประชาสัมพันธ์และรณรงค์ขอความร่วมมือกับประชาชนไปตั้งแต่ก่อนช่วงห้ามเผาแล้ว 

ขณะที่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ประกาศช่วงห้ามเผา (1 มี.ค. – 20 เม.ย. 61) เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาลดน้อยลงไปมาก แต่ยังบางวันที่มีค่า PM 10 เกินค่ามาตรฐาน โดยจังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการแจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังสุขภาพ และแนะนำการดูแลตัวเองในช่วงที่มีฝุ่นละอองเยอะ ทั้งนี้ได้ขอความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วนช่วยกันเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่บริเวณพื้นที่อยู่อาศัย ด้วยการรดน้ำต้นไม้ สนามหญ้า หรือพ่นละอองน้ำบนหลังคา เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของตนเอง นอกเหนือจากที่ส่วนราชการและองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่ได้ฉีดน้ำช่วยลดการสะสมของฝุ่นในพื้นที่ต่างๆ ตลอดจน จะได้กำชับเพิ่มความเข้มข้นในการทำทะเบียนประวัติการเข้าป่า โดยเฉพาะกลุ่มที่หาน้ำผึ้ง เพราะจะต้องจุดไฟใช้ควันไล่ผึ้ง 
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนตระหนักว่า ไฟที่เกิดจากไม้ขีดเพียงก้านเดียว เมื่อเกิดไฟป่าขึ้นมาแล้ว ต้องใช้คนจำนวนกว่า 20 – 30 คน รีบเข้ามาช่วยกันดับไฟ ไม่ได้หลับไม่ได้นอน เพื่อต้องการรักษาคุณภาพอากาศของคนเชียงใหม่ ซึ่งผลกระทบยังส่งผลไปทั้งสภาพแวดล้อม สุขภาพอนามัย และเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดและประเทศอีกด้วย





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น