นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสวนสัตว์เชียงใหม่ เผยว่าช่วงสายของวันนี้ ได้รับแจ้งเจ้าหน้าที่ ได้พบลูกนกกระเรียนหงอนพู่ หรือนกกระเรียนมงกุฏเทา เพิ่มอีก 2 ตัว กำลังอยู่กับพ่อและแม่ อยู่จุดแสดงบริเวณทางเข้าสวนชมนกนครพิงค์ ตรวจสอบ เบื้องต้นสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ดีแต่ยังไม่ทราบเพศ นับว่าเป็นเป็นความสำเร็จในการเพาะขยายพันธุ์นกกระเรียนหงอนพู่ของสวนสัตว์ เชียงใหม่ใน ทำให้ขณะนี้สวนสัตว์เชียงใหม่มีนกชนิดนี้รวมทั้งสิ้น 13 ตัว จากเดิมมี 11 ตัว โดยจะเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะเด็กในช่วงปิดเทอมนี้ เข้าไปชมความน่ารักของลูกนกทั้งสอง และฝูงนกกระเรียนหงอนพู่ บริเวณทางเข้าสวนชมนกนครพิงค์
สำหรับนกกระเรียนหงอนพู่หรือนกกระเรียนมงกุฎเทา (Grey crowned crane) เป็นนกในวงศ์นกกระเรียน พบในทุ่งหญ้าสะวันนาในทวีปแอฟริกาทางใต้ของทะเลทรายซาฮารา ทำรังในพื้นที่เปียกชื้น ไม่ใช่นกอพยพ ลักษณะลำตัวถือเป็นนกขนาดใหญ่ บนหัวมีหงอนพู่เป็นเส้นตรงสีขาวนวล โคนหงอนอยู่ตรงท้ายทอยเป็นกระจุก ปลายบานออกเป็นทรงกลม หน้าผากถึงโคนจมูกมีขนละเอียดสีดำสนิทเป็นก้อนเหมือนกำมะหยี่ แก้มทั้งสองข้างเป็นหนังสีแดงมีแต้มขาวอยู่ตอนบน คอ หน้าอก หลัง หาง และท้องสีดำปีกครึ่งหน้าสีขาว ครึ่งหลังสีน้ำตาลแดง ปลายปีกดำ ขายาวสีเทาแก่ทั้งสองเพศมีลักษณะคล้ายกัน เพศผู้ตัวใหญ่กว่าเล็กน้อย นกวัยอ่อนมีสีเทามากกว่านกที่โตเต็มวัย กับมีขนสีน้ำตาลอมเหลืองที่หน้า ด้านพฤติกรรมนั้น มีการจับคู่ผสมพันธุ์ที่ประกอบไปด้วยการเต้นรำ การก้มตัว และการกระโดด มันเปล่งเสียงร้องจากการขยายตัวของถุงลมสีแดงที่คอ ทำให้เสียงร้องของมันต่างจากเสียงคล้ายแตรของนกกระเรียนชนิดอื่น
นอกจากนี้ ยังเป็นนกที่มีสายตาไกล และไวมาก ชอบอยู่เป็นฝูง หากินตามทุ่งกว้างที่มีน้ำและกอหญ้าหรือบึงหนองในป่าที่ห่างไกลผู้คน นกกระเรียนหงอนพู่ต่างกับนกกระเรียนชนิดอื่นตรงที่มันอาจบินไปเกาะตามกิ่ง ไม้สูงๆ การสร้างรังจะสร้างจากหญ้าและพืชอื่นๆ ในพื้นที่ชุ่มน้ำ
นกกระเรียนมงกุฎเทาวางไข่ครั้งละ 2-5 ฟอง พ่อและแม่ช่วยกันฟักไข่และใช้เวลา 28-31 วันจึงฟักเป็นตัว ลูกนกขนจะขึ้นเต็มที่ใน 56-100 วัน มีความสูงประมาณ 1 เมตร หนัก 3.5 กิโลกรัม ขนลำตัวเป็นสีเทา ปีกมีสีขาวเด่น ที่หัวมีพู่ขนแข็งสีทอง แก้มสีขาวมีถุงลมที่คอสีแดง ปากสั้นสีเทา และขาสีดำ นกกระเรียนหงอนพู่กินเมล็ดพืช ผัก ผลไม้ หอย ปู ปลา และแมลงต่างๆ ที่ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นอาหาร อีกทั้งยังเป็นนกประจำชาติของประเทศยูกันดา ปรากฏอยู่ในธงชาติและตราแผ่นดินด้วย นกกระเรียนมงกุฎเทามี 2 ชนิดย่อยคือ ชนิดย่อยแอฟริกาตะวันออก (B. r. gibbericeps, นกกระเรียนจุก) พบจากทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกถึงประเทศยูกันดา และประเทศเคนยาถึงทางตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้ มันมีพื้นที่หนังเปลือยสีแดงบนหน้าเหนือแต้มสีขาวขนาดใหญ่ใหญ่กว่าอีกชนิดย่อย B. r. regulorum (นกกระเรียนมงกุฎแอฟริกาใต้) พบจากประเทศแองโกลาลงใต้ถึงประเทศแอฟริกาใต้ สำหรับในประเทศไทย นกกระเรียนมงกุฎเทามีจัดแสดงที่สวนสัตว์เชียงใหม่ นับเป็นความสำเร็จในเวลาหลายปีของการขยายพันธุ์ในครั้งนี้
กมล เครือนิล สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น