<<<<<..... ลักษณะอากาศทั่วไป วันนี้ ( 20 มกราคม 2568 ) เวลา 06.00 น. วันนี้ถึง 06.00 น.ของวันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ....อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส   บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.  กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่ อัปเดตนิวส์ รายงาน. แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา - https://www.tmd.go.th/thailand.php .....................................................>>>>

28 มี.ค. 2560

พ่อเมืองเชียงใหม่ ย้ำให้ทุกพื้นที่ ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ


ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ย้ำให้ทุกพื้นที่ ฉีดพ่นน้ำเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศ ลดปัญหาฝุ่นละอองตามแผนที่กำหนด แต่พื้นที่ใกล้เครื่องวัดคุณภาพอากาศ ให้ฉีดพ่นได้ในระยะที่ คพ. ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ ระบุเชียงใหม่ให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นหลัก ชูเวียงแหงโมเดล จับมือเผาเข้าค่ายปรับทัศนคติ นำตัวไปช่วยดับไฟป่าอย่างน้อย 7 วัน
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในการประชุมคณะทำงานศูนย์อำนวยการสั่งการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องศูนย์ประชุมวอร์รูมไฟป่า ชั้น 1 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการเชื่อมสัญญาณระบบวิดีโอคอนเฟอร์เร้นท์ กับนายอำเภอทั้ง 25 อำเภอ เพื่อติดตามสถานการณ์แก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ หลังจากได้สั่งการให้ทุกอำเภอสำรวจจุดเสี่ยงที่คาดว่าจะมีการเผา โดยในเขตป่าสงวน และพื้นที่ชุมชน ริมทางหลวง ซึ่งพบสถิติการเผาไหม้เพิ่มขึ้น
นายปวิณ กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์หมอกควันในจังหวัดเชียงใหม่ดีขึ้นมาก มีเพียงวันเดียวที่ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐาน ในวันที่ 24 มีนาคม 2560 ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 153 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และลดลงเหลือ 119 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ในวันถัดมา มีสถิติจุดความร้อนที่เกิดขึ้น 524 จุด นับตั้งแต่ประกาศห้ามเผา วันที่ 20 กุมภาพันธ์- 26 มีนาคม 60 ใกล้เคียงกับปี 2559 ในช่วงเวลาเดียวกัน อยู่ที่ 510 จุด มากกว่าปีที่แล้วเพียง 14 จุด โดยเชียงใหม่ตั้งเป้าที่จะลดจุด Hotspot ลงร้อยละ 20 ของปีที่แล้ว คือ ไม่เกิน 797 จุด
“ทุกมาตรการที่จังหวัดเชียงใหม่ได้ดำเนินการ ก็เพื่อดูแลรักษาสุขภาพของคนเชียงใหม่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ การฉีดพ่นละอองน้ำ ลดหมอกควันได้กำชับให้ทุกท้องถิ่น ทุกอำเภอดำเนินการตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง แต่ในพื้นที่ที่มีเครื่องวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษให้พิจารณาไม่ฉีดพ่นในระยะที่ใกล้เกิน 20 เมตร ตามระยะที่กรมควบคุมมลพิษ ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อเครื่องวัด”
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า พื้นที่ที่ยังเป็นห่วง และเน้นย้ำให้ชัดชุดลาดตระเวนต่อเนื่อง คือ พื้นที่ริมถนนหลวง พื้นที่ป่าที่ยังไม่มีการเผาไหม้ที่เกิดการสะสมของเชื้อเพลิง ที่อำเภอเชียงดาว, ไชยปราการ, พร้าว, แม่แตง, แม่วาง, วันป่าตอง, หางดง, สันทราย, สันกำแพง และแม่ออน แม้จะไม่พบการเผาไหม้ในปริมาณมาก แต่หากเกิดขึ้นควันไฟจะถูกพัดเข้าในเขตเมือง จึงต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ศูนย์วอร์รูมไฟป่าจังหวัดเชียงใหม่ เป็นห่วงว่า ที่ผ่านมา 35 วันของการเฝ้าระวัง ชุดปฏิบัติการในพื้นที่ทำงานอย่างหนัก ในการลาดตระเวนและเฝ้าระวัง และเข้าดับไฟป่าเมื่อได้รับแจ้ง อะไรที่จังหวัดจะให้การสนับสนุนได้ก็จะดำเนินการเต็มที่ เพราะเวลาที่เหลืออีก 25 วัน ถือเป็นช่วงที่ต้องเฝ้าระวังเข้มข้น
“ในการซุ่มจับกุม ผู้ลักลอบเผา ให้ทุกอำเภอ ยึดอำเภอเวียงแหงตัวอย่าง เมื่อจับกุมคนเผา ดำเนินคดีแล้ว ให้ประสานหน่วยทหารในพื้นที่ หรือชุดบรรเทาสาธารณภัย 12 ชุด ที่ประจำใน 11 อำเภอ นำตัวคนเผาป่าไปปรับทัศนคติ และพาเข้าไปดับไฟป่าอย่างน้อย 7 วัน เพื่อให้รู้ถึงความลำบากในการเข้าดับไฟ”

กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" Fast News สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน





27 มี.ค. 2560

รองผู้ว่าฯชีแจงข้อเท็จจริงกรณีพ่นน้ำบริเวณสามกษัตริย์


"ที่นี่....เชียงใหม่" Fast News 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ชี้แจง เรื่องการพ่นน้ำที่บริเวณหน้าอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ ต่อมาสื่อมวลชนได้มีการนำเสนอข่าวเกรงว่าการพ่นน้ำนั้นจะส่งผลกระทบต่อเครื่องวัด PM10  วัดค่าประมวลผลผิดค่าจากข้อเท็จจริงหมายถึงว่าทำให้ค่ามวลพิษต่ำกว่าความเป็นจริงนั้นขออธิบายด้วยสองเหตุผลดังนี้ เหตุผลข้อที่1 จังหวัดยอมรับว่าการไปตั้งเครื่องพ่นน้ำตรงยั้นเป็นความจริงด้วยความจำเป็นที่ว่าในวันอาทิตย์ทุกวันบริเวณแห่งนั้นจะเป็นที่ประชาชนจำนวนมากนับหมื่นคนจะมาเดินจับจ่ายใช้สอยที่เรียกว่าบริเวณ ถนนคนเดินจังหวัดได้รับการร้องขอจากประชาชนเพื่อให้ที่แห่งนั้นเป็นที่ที่ชุ่มชื้นปลอดจากมลพิษจังหวัดจึงได้ดำเนินการนำเครื่องพ่นละอองน้ำ ณ จุดแห่งนั้น  และให้องค์กรปกครองท้องถิ่นทุกอำเภอดำเนินการเช่นเดียวกันเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นในอากาศถึงแม้จะไม่มีเครื่องตรวจวัด
ข้อที่2 จังหวัดทราบว่าการพ่นน้ำอาจมีผลกระทบต่อเครื่องวัดคุณภาพอากาศแต่ด้วยข้อมูลที่ยื่นยันว่าการพ่นน้ำของจังหวัดในระยะสั้นๆก็ห่างไกลจากตัวเครื่องวัดคุณภาพอากาศ เป็นอย่างมากประกอบด้วยคุณภาพและประสิทธิภาพของเครื่องวัดคุณภาพอากาศนั้นสามารถที่จะแยกแยะ ความชื้นในการตรวจวัดคุณภาพอากาศได้ทุกเวลาดังข้อมูลต่อไปนี้
 เครื่องวัดฝุ่น PM10 และ PM2.5 ที่ติดตั้งที่ รร ยุพราช จะเป็นเทคนิค Beta Ray Attenuation ของ บ. Thermo Scientific รุ่น 5014i (https://www.thermofisher.com/order/catalog/product/5014I) เมื่อดูดอากาศเข้ามาในเครื่องฝุ่นจะตกลงบนกระดาษกรองและจะมีแหล่งกำเนิดของรังสีเบต้า ซึ่งเป็นรังสีพลังงานต่ำฉายผ่านกระดาษกรอง ซึ่งจะหาความสัมพันธ์ของปริมาณรังสีที่ฉายและรังสีที่ผ่านกระดาษกรองออกมาเมื่อไม่มีและเมื่อมีฝุ่นละอองเกาะอยู่ และนำไปเทียบหาความเข้มข้นของฝุ่นละอองที่ตรวจวัด ซึ่งในระบบการวัดนี้จะมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้นให้คงที่ที่ประมาณ 40 C และความชื้นไม่เกิน 60 %RH อยู่เพื่อป้องกันความชื้นสูงในช่วงที่มีหมอกจัดหรือฝนตกหนักความชื้นเกินกว่าที่กำหนด เนื่องจากความชื้นมีผลต่อการดูดซับรังสีภายในเครื่องวัดทำค่าที่วัดได้มีความผิดพลาดหรือต่างไปจากค่าปกติ และความชื้นที่สูงทำให้มีผลเสียต่อเครื่องมือด้วย ถ้าเข้าไปในปริมาณสูงและต่อเนื่องอาจทำให้เครื่องเสียได้ (https://www.researchgate.net/publication/283081003_Field_evaluation_of_an_electrostatic_PM10_mass_monitor_used_for_continuous_ambient_particulate_air_pollution_measurements)
ส่วนประเด็น ค่าฝุ่น pm10 ลดลงนั้น อาจจะเกิดจากหลายปัจจัยรวมทั้งกระแสลม ความร้อนสูงที่ทำให้ฝุ่นลอยตัวสูง ซึ่งในวันที่ 25 ฝุ่น pm10 ที่สถานีวัดของศูนย์ ccdc มช แม่เหียะมีค่าลดลงสอดคล้องกับสถาน รร ยุพราช ตามรูป
3.เมื่อพิจารณาจากข้อมูลคุณภาพอากาศรายวัน ณ สถานีตรวจวัดต่าง ๆ จะเห็นว่าคุณภาพอากาศไม่ได้เกินมาตรฐาน พี่น้องชาวเชียงใหม่เองทราบดีถึงความจริงข้อนี้ ท้องฟ้ายังสดใส มองเห็นดอยสุเทพชัดเจน เพียงแต่อุณหภูมิในช่วงบ่ายค่อนข้างสูง อากาศร้อนมาก การพ่นน้ำจึงเป็นเหตุผลในเรื่องของการสร้างความชุ่มชื้น ไม่ใช่เหตุผลเรื่องการยอดเบือนคุณภาพอากาศ ข่าวในลักษณะดังกล่าวส่งผลกระทบต่อขวัญและกำลังใจของเจ้าหน้าที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พี่น้องประชาชน ที่กำลังตรากตรำ และเสี่ยงอันตรายอยู่ในพื้นที่อำเภอต่าง ๆ เพื่อควบคุมไฟทั้งกลางวันและกลางคืน
จังหวัดเชียงใหม่จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบโดยทั่วกัน
กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" Fast News สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน



11 มี.ค. 2560

กลุ่มผู้นำชุมชนและประชาชนทั่วไป ร่วมเวทีสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 4



ผู้นำชุมชน กลุ่ม NGO และกลุ่มองค์กรภาคประชาชนสังคม ร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยเป็นเวทีครั้งที่ 4 เพื่อเสนอแนวทางสร้างความสามัคคีปรองดอง ใน 10 ประเด็น และพร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

วันที่ 10 มีนาคม 2560 เวลา  09.00 น. ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงานรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีกลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำจิตวิญญาณ ชาวบ้านทั่วไป กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมฯ กลุ่มสาขาอาชีพ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และกลุ่มองค์กรภาคประชาชนสังคม (CSOs) เข้าร่วมประชุมกว่า 35 คน เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ใน 10 ประเด็น ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านความเหลื่อมล้ำการครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการต่างประเทศ ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น ด้านการปฏิรูป และด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ รายงานให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในชาติ และรวบรวมข้อคิดเห็นจากการนำเสนอให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการสร้างความสามัคคีปรองดองในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยทางภาครัฐมีหน้าที่รับฟังและจดบันทึกเพียงอย่าเดียว โดยการประชุมครั้งต่อไป เป็นกลุ่มสื่อมวลชน ในวันพุธ ที่ 15 มีนาคม 2560 เวลา 09.00-11.30 น.

ขอบคุณภาพข่าวจากสำนักงานปรัชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
กมล เครือนิล สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน





9 มี.ค. 2560

เชียงใหม่เปิดเวทีปรองดอง ครั้งที่ 3


เชียงใหม่ เปิดโอกาสให้กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น และแกนนำมวลชนทางการเมือง ร่วมกันแสดงความคิดเห็น โดยเป็นเวทีครั้งที่ 3  เพื่อเสนอแนวทางสร้างความสามัคคีปรองดอง และพร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2560 09.00 น. ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ นายประจวบ กันธิยะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานคณะทำงานรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายสุรพล เกียรติไชยากร อดีต ส.ส.เชียงใหม่ สังกัดพรรคเพื่อไทย นายอดิศร กำเนิดศิริ อดีต สว.เชียงใหม่ และกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ได้แก่ กลุ่มสนับสนุนพรรคการเมือง กลุ่มทุนทางการเมือง กลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น กลุ่มแกนนำมวลชนทางการเมือง เข้าร่วมประชุมกว่า 40 คน เพื่อร่วมกันแสดงความคิดเห็นในการสร้างความสามัคคีปรองดอง ใน 10 ประเด็น ได้แก่ ด้านการเมือง ด้านความเหลื่อมล้ำการครอบครองที่ดินทำกินของเกษตรกร และการบริหารจัดการน้ำ ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ด้านสังคม เศรษฐกิจ การศึกษา และสาธารณสุข ด้านสื่อสารมวลชน ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้านการต่างประเทศ ด้านการป้องกันทุจริตคอร์รัปชั่น ด้านการปฏิรูป และด้านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
ทั้งนี้ เพื่อรวบรวมข้อคิดเห็นต่างๆ รายงานให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในชาติ และรวบรวมข้อคิดเห็นจากการนำเสนอให้คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง การเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นการสร้างความสามัคคีปรองดองในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ โดยทางภาครัฐมีหน้าที่รับฟังและจดบันทึกเพียงอย่าเดียว โดยการประชุมครั้งต่อไป เป็นกลุ่มผู้นำชุมชน ผู้นำจิตวิญญาณ ชาวบ้านทั่วไป และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มทุกสาขาอาชีพ กลุ่มองค์กรพัฒนาเอกชน กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคม ในวันศุกร์ ที่ 10 มีนาคม 2560 เวลา 09.00-11.30 น.

กมล เครือนิล ทีมข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน





3 มี.ค. 2560

เชียงใหม่เปิดเวทีปรองดอง ครั้งที่ 2 เชิญนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าร่วม


เชียงใหม่เปิดเวทีปรองดอง ครั้งที่ 2 เชิญนักการเมืองท้องถิ่น ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เสนอแนวทางสร้างความปรองดอง และพร้อมเป็นพลังขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
วันที่ 3 มีนาคม 2560 เวลา 09.00 น. ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายปวิณ ชำนิประศาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ในฐานะประธานคณะทำงานรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเวทีรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เชิญกลุ่มนักการเมืองท้องถิ่น โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมเวที ประกอบด้วย นายนพคุณ รัฐผไท อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 8 , นายวิทยา ทรงคำ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ เขต 4, นายทัศนัย บูรณุปกรณ์ นายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่, ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และแกนนำภาคการเมือง จำนวน 35 คน เข้าร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับในการสร้างความสามัคคีปรองดองใน 10 ประเด็น รวมทั้งนำเสนอมุมมองสำคัญ ปัญหาและวิธีการแก้ไขเพื่อส่วนรวม เพื่อให้กระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดองบรรลุผล
นายปวิณ กล่าวว่า การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยมีกลุ่มข้าราชการ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน พนักงานรัฐวิสาหกิจ หอการค้าจังหวัด กลุ่มองค์กรที่ทำงานร่วมกันกับส่วนราชการ เกือบ 40 คน มาให้ข้อมูลความเห็น และข้อเสนอแนะแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อการสร้างความปรองดองของประเทศชาติ การจัดเวทีที่เหลืออีก 4 ครั้ง จังหวัดเชียงใหม่ได้รับการตอบรับจากกลุ่มต่างๆ เป็นอย่างดี มีการส่งรายชื่อกลับมายังคณะทำงานเกินกรอบที่ตั้งไว้ 200 คน ซึ่งคณะทำงานจะเปิดโอกาสให้ทุกคนที่มีความสนใจเข้าร่วมเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการสร้างความสามัคคีปรองดองเกิดขึ้นในชาติ ถือเป็นเรื่องที่ดี และขอขอบคุณชาวเชียงใหม่ที่ให้ความสนใจมาให้ความเห็นในการสร้างความปรองดองทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา
ขอบคุณแหล่งที่มาของภาพและข่าว : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
กมล เครือนิล สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน