<<<<<..... ลักษณะอากาศทั่วไป วันนี้ ( 20 มกราคม 2568 ) เวลา 06.00 น. วันนี้ถึง 06.00 น.ของวันพรุ่งนี้ ภาคเหนือ....อากาศเย็นถึงหนาว กับมีหมอกในตอนเช้า อุณหภูมิต่ำสุด 12-17 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 28-33 องศาเซลเซียส   บริเวณยอดดอยอากาศหนาวถึงหนาวจัด และมีน้ำค้างแข็งบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 3-10 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงเหนือ ความเร็ว 5-15 กม./ชม.  กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่ อัปเดตนิวส์ รายงาน. แหล่งที่มาของข้อมูล : กรมอุตุนิยมวิทยา - https://www.tmd.go.th/thailand.php .....................................................>>>>

29 ก.ค. 2554

กองทัพเรือบวงสรวงเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์




กองทัพเรือบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่-เซ่นไหว้แม่ย่านางเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์อัญเชิญลงน้ำ และเรือพระที่นั่งในพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ปี 2554
เมื่อเวลา 07.45 น.ที่พิพิธภัณฑ์เรือราชพิธี ถนนอรุณอมรินทร์ กรุงเทพฯพล.ร.อ. กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่และเซ่นไหว้แม่ย่านางพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เพื่ออัญเชิญเรือลงน้ำ สำหรับเตรียมการฝึกซ้อมขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ให้แก่กำลังพลซึ่งทำหน้าที่เป็นฝีพาย
ทั้งนี้ กองทัพเรือ ได้เตรียมจัดงานพระราชพิธีเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐินโดยขบวนพยุหยาตราทางชลมารค เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554 ใช้เรือพระราชพิธี จำนวน 52 ลำ และกำลังพลจากหน่วยต่างๆ ของกองทัพเรือเป็นฝีพายประจำเรือพระราชพิธี จำนวน 2,098 นาย รูปกระบวนเรือจัดเป็น 5 ริ้ว ประกอบด้วย เรือพระที่นั่ง 4 ลำ ได้แก่ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9 เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ เรือรูปสัตว์ 8 ลำ ได้แก่ เรือกระบี่ปราบเมืองมาร เรือกระบี่ราญรอนราพณ์ เรือพาลีรั้งทวีป เรือสุครีพครองเมือง เรือครุฑเหินเห็จ เรือครุฑเตร็จไตรจักร เรืออสุรวายุภักษ์ เรืออสุรปักษี เรือดั้ง 22 ลำ และเรืออื่นๆ อีก 18 ลำ
สำหรับ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารคในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 16 ที่จัดขึ้นในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยครั้งล่าสุดเป็นการจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค ในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐิน ประจำปี 2550 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550
ทั้งนี้ การบวงสรวงพระภูมิเจ้าที่ ถือเป็นประเพณีโบราณที่สืบทอดกันต่อมา เป็นพิธีกรรมในการยอมรับนับถือ และให้การคารวะบูชาต่อพระภูมิเจ้าที่ที่ปกปักรักษา ดูแล คุ้มครอง ป้องกันสถานที่นั้นๆ พิธีกรรมเป็นการสวดอาราธนาบารมีพระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพและเทพพรหมเทวา รวมถึงท้าวจตุมหาราชผู้เป็นใหญ่ในทิศทั่วทั้ง 4 ลงมาประทับ ณ สถานประกอบพิธีนั้น ๆ
สำหรับ พิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ เป็นพิธีที่ชาวเรือมีความเชื่อกันมาแต่โบราณว่า เรือทุกลำมีแม่ย่านางเรือสิงสถิตอยู่ คอยปกปักรักษา คุ้มครองป้องกันอันตรายทั้งปวงที่จะเกิดแก่เรือก่อนออกเรือทุกครั้ง หรือการนำเรือไปใช้งาน จึงมักกระทำพิธีเซ่นไหว้แม่ย่านางเรือ หรือบูชาแม่ย่านางเรือก่อน เพื่อความเป็นสิริมงคล เป็นขวัญและกำลังใจแก่กำลังพลประจำเรือ ถือเป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ยึดถือปฏิบัติกันต่อเนื่องมา
โพสทูเดย์


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น