นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แถลงว่า หลังจากที่ไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกแล้ว ทางคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ของกลุ่ม พธม. และกองทัพธรรมได้มีมติว่าจะยุติการชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ และสะพานชมัยมรุเชฐ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ประมาณ 4-5 วัน
ทั้งนี้พธม.ขอประกาศจุดยืน 8 ข้อต่อการที่ไทยถอนตัวออกจากมรดกโลกดังนี้
1.ภาคประชาชนขอขอบคุณ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้เจรจามรดกโลก ที่ได้ตัดสินใจถอนตัว แม้จะมีแรงกดดันขอให้เสนอเลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารจากทั้งรัฐบาลไทยและข้าราชการเป็นจำนวนมาก
2.ภาคประชาชนถือว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจถอนตัวจากภาคีมรดกโลกเป็นการทำตามข้อเรียกร้อง 1 ใน 3 ข้อของภาคประชาชน ถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นความสำเร็จ 1 ใน 3 ข้อของการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน
3.การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนการถอนตัวว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติให้เลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกเขาพระวิหาร แต่ไทยต้องดูถ้อยคำเรื่องการส่งทีมบูรณะปฏิสังขรณ์ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ แต่ต้องเคารพมติของที่ประชุมนั้น แสดงว่าจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ต้องการเพียงแค่การเลื่อน การตัดสินใจครั้งนี้จึงไม่ถือเป็นผลงานของนายอภิสิทธิ์ แต่เป็นผลงานของนายสุวิทย์โดยตรง
4.การถอนตัวครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ภาคประชาชนพูดมาตลอดเป็นความจริงทุกประการ และยังสะท้อนด้วยว่าเอ็มโอยู 2543 ที่นายอภิสิทธิ์พยายามยึดถือว่าจะเป็นอำนาจและกลไกในการปกป้องไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลกเดินหน้าเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น
5.การที่รัฐบาลไทยล้มเหลวในการใช้เอ็มโอยู 2543 ในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก แสดงว่าไม่มีชาติไหนๆเห็นด้วยกับการใช้เอ็มโอยู 2543 ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ดังนั้นหากไทยยังยึดมั่นในเอ็มโอยู 2543 ก็จะเป็นอันตรายต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะในเวทีศาลโลก การประชุมอาเซียน หรือการประชุมในสหประชาชาติก็ตาม รัฐบาลจึงต้องทบทวนเอ็มโอยู 2543 อย่างเร่งด่วน
6.แม้ว่ารัฐบาลไทยจะถอนตัวออกมาแล้วแต่ในช่วงเวลาที่เหลือจนถึงวันที่ 29 มิ.ย.ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการพิจารณาเรื่องปราสาทพระวิหารหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร เมื่อไทยถอนตัวแล้วต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องไม่ให้ฝ่ายกัมพูชาหรือยูเนสโกเข้ามากระทำการใดในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
7.นับจากนี้ประเทศไทยจะต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนอย่างแข็งขันในการยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะในเวทีศาลโลก ที่ประเทศไทศไม่เคยยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ดังนั้น ในเวทีศาลโลกไทยก็ไม่สมควรจะไปรับอำนาจศาลโลกอีก
8.ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ยืนหยัดต่อสู้ในครั้งนี้ ถือว่าความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้ช่วยกัน
โพสทูเดย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น