สนข. โชว์ผลศึกษารถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่ ทุ่มงบกว่า 6 หมื่นล้าน ยกระดับคมนาคมขนส่ง-ท่องเที่ยวสู่ผู้นำของอาเซียน
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.60 เวลา 09.00 น. ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเชียงใหม่ ฮิลล์ 2000 จ.เชียงใหม่ นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 4 โครงการศึกษาและออกแบบรถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย–เชียงใหม่ เพื่อนำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางโครงการที่เหมาะสม รูปแบบโครงสร้างทางรถไฟ ความคุ้มค่าและประโยชน์ของโครงการ การเวนคืนที่ดินและผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน โดยมีผู้สนใจ ทั้งจากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนและสื่อมวลชน ในจังหวัดเชียงใหม่ เข้าร่วมงานกว่า 200 คน
การสัมมนาครั้งนี้ได้นำเสนอผลสรุปแนวเส้นทางที่เหมาะสม ระยะทางรวม 189 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงเด่นชัย –ลำปาง ระยะทางประมาณ 104 กิโลเมตร เป็นการสร้างทางรถไฟคู่ไปกับแนวเขตทางเดิม พร้อมปรับรัศมีโค้งของทางรถไฟเดิม เพื่อให้รถไฟสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น โดยสามารถใช้ความเร็วได้สูงสุด 120 กม./ชม. และ ช่วงลำปาง –เชียงใหม่ ระยะทางประมาณ 85 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างทางคู่ขนานในแนวเขตทางเดิมบางส่วนและตัดแนวทางรถไฟใหม่บางส่วน เพื่อให้เป็นแนวเส้นตรงมากที่สุด โดยสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 160 กม./ ชม. ตลอดเส้นทาง ส่วนการออกแบบโครงสร้างทางรถไฟ จะออกแบบให้สอดคล้องกับการออกแบบรถไฟทางคู่ของกระทรวงคมนาคม ที่เป็นไปตามมาตรฐานของ American Railway Engineering and maintenance – of – Way Association (AREMA) และการรถไฟแห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้สามารถรองรับน้ำหนักกดเพลา 20 ตัน (U20)
ส่วนการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจของโครงการ พบว่ามีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) 12.06% มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) 291 ล้านบาท อัตาส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.01 % ซึ่งถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์การวิเคราะห์ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของธนาคารโลก และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 61,220 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 60,464 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 756 ล้านบาท
สำหรับมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการให้ความสำคัญกับการแนวเส้นทางที่ผ่านพื้นที่ชุมชนและเส้นทางคมนาคม โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่ถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของการคมนาคมขนส่งของภาคเหนือ โดยโครงการได้ออกแบบการแก้ไขปัญหาจุดตัดทางรถไฟกับถนนให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งให้ประชาชนรับทราบและเตรียมพร้อมเกี่ยวกับแผนการก่อสร้าง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจราจรที่อาจเกิดขึ้น ส่วนมาตรการด้านการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน โครงการได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 และคู่มือการกำหนดเงินค่าทดแทนฯ ของกระทรวงคมนาคม พ.ศ. 2560 เพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ที่ถูกเวนคืนมากที่สุด หากมีการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงใหม่ จะส่งผลให้เส้นทางรถไฟสายเหนือมีการเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สมบูรณ์มากขึ้น เพิ่มขีดความสามารถด้านโลจิสติกส์ ที่สำคัญยังเพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวการค้า และการลงทุนในพื้นที่ภาคเหนือ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ภาคเหนือกลายเป็นผู้นำด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนในอนาคตได้ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ที่เป็นเมืองหลักของภาคเหนือ เป็นศูนย์กลางทั้งด้านอุตสาหกรรมและการคมนาคม และยังคงมีศักยภาพในการพัฒนาสูง
ทั้งนี้ ภายหลังจากการสัมมนา สนข. จะนำผลสรุปที่ได้เสนอต่อกระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการ จากนั้น จึงว่าจ้างผู้รับเหมาและที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง และเข้าสู่กระบวนการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ต่อด้วยดำเนินการก่อสร้าง ใช้ระยะเวลารวมประมาณ 6 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและรายละเอียดโครงการ ได้ที่ www.denchai-chiangmai-doubletrack.com และแฟนเพจรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงใหม่
ณริดา ไชยรัตน์ ทีมข่าว " ที่นี่....เชียงใหม่" Fast News สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น