โครงการรับยาที่ร้านยา ของกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นนโยบายลดความแออัดในโรงพยาบาล สร้างทางเลือกในการรับยาหลังพบแพทย์ให้กับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่สมัครใจ ไม่ต้องรอคิวรับยา โดยแพทย์ต้องให้ความเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการคงที่ สามารถร่วมโครงการรับยาที่ร้านยาได้ ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการต้องเป็นร้านยาแผนปัจจุบัน ข.ย.1 ที่มีเภสัชกรประจำร้าน และมีป้ายสัญลักษณ์ “ร้านยาชุมชนอบอุ่น” ที่หน้าร้าน
ผู้ป่วยที่สามารถเข้าร่วมโครงการฯ ได้ ต้องเป็นบุคคลที่ใช้สิทธิ์บัตรทอง ป่วยด้วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หรือโรคทางจิตเวช และแพทย์วินิจฉัยแล้วว่าผู้ป่วยสามารถรับยาที่ร้านยาได้ และผู้ป่วยสมัครใจไปรับยาที่ร้านยา ซึ่งยาที่ผู้ป่วยได้รับจากร้านยา จะเป็นยาที่จัดส่งมาจากโรงพยาบาล เป็นยารายการเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน และสิ่งสำคัญของโครงการ คือการเชื่อมต่อข้อมูลของผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลและร้านยา ที่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วยในการส่งข้อมูล โดยโรงพยาบาลจะจัดส่งเฉพาะข้อมูลที่จำเป็นของผู้ป่วยให้กับร้านยา เพื่อให้จ่ายยาและให้คำแนะนำกับผู้ป่วยได้ ซึ่งจะมีการประเมินสุขภาพและความพึงพอใจหลังดำเนินโครงการ เพื่อปรับปรุงด้านบริการของโรงพยาบาล เช่น มีเวลาดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะโรคซับซ้อนมากขึ้น การควบคุมคุณภาพยาในหอผู้ป่วย เป็นต้น
ในส่วนของจังหวัดเชียงใหม่ เภสัชกรหญิง พัชราวัลย์ มีศิลป์ เภสัชกรประจำศูนย์ยาสี่แยกข่วงสิงห์ เปิดเผยว่า ศูนย์ยาสี่แยกข่วงสิงห์ได้เข้าร่วมโครงการรับยาที่ร้านยา กับโรงพยาบาลสวนปรุง และโรงพยาบาลนครพิงค์ ซึ่งผู้ป่วยของโรงพยาบาลสวนปรุง เป็นผู้ป่วยจิตเวช อาทิ โรคอารมณ์ 2 ขั้ว โรคซึมเศร้า โรคนอนไม่หลับ และผู้ป่วยของโรงพยาบาลนครพิงค์ จะเป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคไขมัน ความดัน ขณะนี้มีผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการของโรงพยาบาลสวนปรุง 10 กว่าราย ได้รับยาไปแล้ว และกำลังรอรับยาต่อเนื่องอีกประมาณ 10 กว่าราย ส่วนโรงพยาบาลนครพิงค์ กำลังเริ่มดำเนินการและมีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการแล้ว
นอกจากนี้ เภสัชกรหญิง พัชราวัลย์ มีศิลป์ ในฐานะนักวิจัยเกี่ยวกับรหัสยา และระบบเชื่อมต่อโรงพยาบาลกับร้านขายยา ยังได้ร่วมกับอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ E-leaning และส่งเนื้อหาให้เภสัชกรร้านขายยาที่ต้องการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้เรียนรู้และทำข้อสอบ เมื่อทำข้อสอบผ่าน จะได้ใบรับรอง และนำใบรับรองมายื่นขอเข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งร้านยาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องเป็นร้านยาที่ผ่านเกณฑ์ GDP ซึ่งเป็นมาตรฐานของร้านยา และจะต้องมีเภสัชกรประจำร้านยา 8 ชั่วโมง
นันธิกา กิจปาโล/จุฑารัตน์ น้ำพ่วง/วิชญ์พล สุวรรณไพโรจน์ ข่าว-ภาพ
สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงใหม่
กมล เครือนิล ทีมข่าว "ที่นี่....เชียงใหม่" สำนักข่าว เชียงใหม่อัปเดตนิวส์ รายงาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น