สำนักงานชลประทาน ที่ 1 ชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง ปี 2566 วางแผนส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ลงลำน้ำปิง ห้วงวันที่ 5 มกราคม–31 พฤษภาคม 2566 ขอกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำและมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด
.
วันที่ 1 ธ.ค. 65 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายศักดิ์ชัย คุณานุวัฒน์ชัยเดช รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดการชี้แจงแผนการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้งปี 2566 ของพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ณ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานชลประทาน ที่ 1 เชียงใหม่ รวมทั้ง นายอนุพงษ์ วาวงศ์มูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน ได้เข้าร่วมในการประชุมด้วย
.
โดยในปีนี้ สำนักงานชลประทาน ที่ 1 โดยนายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่าได้วางแผนส่งน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ลงลำน้ำปิง ห้วงวันที่ 5 มกราคม–31 พฤษภาคม 2566 รวมจำนวน 21 รอบเวร ปริมาณน้ำ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในวันเสาร์และวันอาทิตย์ จะงดการใช้น้ำ เพื่อให้สามารถส่งน้ำไปถึงพื้นที่ด้านท้ายน้ำ ยกเว้นเพื่อการอุปโภค-บริโภค ส่วนประปาสามารถสูบน้ำได้ทุกวัน และในวันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึง วันศุกร์ เวลา 18.00 น. จะเปิดใช้น้ำพร้อมกัน ยกเว้นฝายแม่ปิงเก่า ที่จะเปิดใช้ในวันจันทร์ เวลา 09.00 น. ถึงวันพฤหัสบดี 09.00 น. ทั้งนี้ การส่งน้ำแบบรอบเวรระบายน้ำจากเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จะเป็นไปตามแผนการส่งน้ำที่ชลประทานจะประชุมติดตามสถานการณ์น้ำทุกสัปดาห์ เพื่อปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนฯ ให้เหมาะสม กับสถานการณ์และเพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ อย่างไรก็ตาม สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ขอความร่วมมือกลุ่มผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วน ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำ และมาตรการที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด กรณีปริมาณน้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ ขอให้กลุ่มผู้ใช้น้ำแจ้งให้เจ้าหน้าที่ชลประทานที่ดูแลในพื้นที่ทราบทันที
.
นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล อ.แม่แตง กล่าวว่า ได้ดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ที่กีดขวางทางไหลน้ำ โดยใช้วิธิพ่นสารละลาย สวพ.62-RID No.1 ย่อยสลายแบบธรรมชาติซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช ที่ไม่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมียังวัชพืชที่รอการกำจัดอีก 100 ตัน โดยมีแผนดำเนินการกำจัด หรือคิกออฟ วันที่ 5 ธันวาคมนี้ ทั้งนี้ “เขื่อนแม่งัด ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นธรรมชาติ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวจองแพกลางเขื่อน 8- 9 ราย กว่า 100 หลัง เต็มหมดแล้ว จนถึงเทศกาลปีใหม่หรือเคาท์ดาวน์ แต่มีลานกางเต้นท์บริการในอุทยาน ทำให้มีชาวบ้านบริการเรือโดยสาร กว่า 50 ลำ เพื่อบริการนักท่องเที่ยว ส่วนชลประทาน มีหน้าที่ควบคุมคุณภาพน้ำในเขื่อน โดยให้ผู้ประกอบการติดตั้งถังบำบัดน้ำเสีย เพื่อผ่านกระบวนการบำบัดให้ถูกต้องตามกฎหมายและหลักวิชาการ ช่วงเทศกาลปีใหม่ คาดเงินสะพัดนับสิบล้านบาท”
.
ด้านแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตพื้นที่เพาะปลูกสองฝั่งแม่น้ำปิงจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ในปี 2566 นั้น มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง, พืชไร่-พืชผัก และไม้ผล-ไม้ยืนต้น รวม 165,912 ไร่ ซึ่งมากกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 12 หรือคิดเป็น 18,199 ไร่ ซึ่งจะได้มีการส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรทุกชนิดพืช นอกจากนี้ สำนักงานชลประทาน ที่ 1 ได้มีการเตรียมความพร้อมเครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ รถแทรกเตอร์ และเครื่องจักรกลอื่น ๆ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และอุปโภค-บริโภค ในฤดูแล้ง ปี พ.ศ. 2566
.
สำหรับสถานการณ์น้ำฝนในเขตจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 – ปัจจุบัน มีปริมาณมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ยทั้ง 2 สถานีวัดน้ำ ส่วนปริมาณน้ำในลำน้ำปิง ที่ไหลผ่านสถานี P.1 (สะพานนวรัฐ) ก็มีปริมาณน้ำสะสม 1,657 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย ร้อยละ 4
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น