สำนักงานชลประทานที่ 1 เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบเครือข่าย Video Conference
วันที่ 2 สิงหาคม 2565 เวลา 10.00 น. นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 พร้อมด้วย นายวุฒิชัย รักษาสุข รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา นายวิชัย ชัยเจริญชาติ ผู้อำนวยการส่วนเครื่องจักรกล นายสมคิด สะเภาคำ ผู้อำนวยการศูนย์อุทกวิทยาภาคเหนือตอนบนจังหวัดเชียงใหม่ นายสุภรวัฒน์ สุรการ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานลำพูน นายอำนาจ อินทร์วงศ์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง นายอัธยา อรรณพเพ็ชร ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา หัวหน้าฝ่าย ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อให้การติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ จากพื้นที่ต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการแจ้งเตือนและเป็นแนวทางในการบริหารจัดการน้ำ พร้อมทั้งรับทราบแนวทางการปฏิบัติของกรมชลประทาน ในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านระบบเครือข่าย Video Conference โดยมี ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุม รับสัญญาณจากห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริย กรมชลประทาน สามเสน กรุงเทพมหานคร มายังห้องประชุมชั้น 3 สำนักงานชลประทานที่ 1 (SWOC1) ตำบลวัดเกต อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
สำหรับสถานการณ์น้ำในเขตสำนักงานชลประทานที่ 1 ในปัจจุบันเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 161.238 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 60.84 เขื่อนแม่กวงอุดมธาราปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 99.040 ล้าน ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 37.66 อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็กมีปริมาณน้ำถึงร้อยละ 53 และร้อยละ 57 ตามลำดับ ถือว่ามากกว่าปี 2564 สำหรับแผนการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2565 วางแผนไว้ 523,072 ไร่ ดำเนินการแล้ว 445,771 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 85 ด้านการบริหารจัดการน้ำให้กับภาคเกษตรและการผลิตประปา สามารถดำเนินการได้ตามแผน โดยสภาพอากาศ ในช่วงนี้ มีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ตลอดช่วง และมีฝนตกหนักบางแห่ง
ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้รายงานปัญหาเรื่องอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ว่า เขตเศรษฐกิจที่สำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ จะถูกผลกระทบจากฝนที่ตกหนักจากเทือกเขาดอยสุเทพ-ปุย ซึ่งจะไหลหลากเข้าสู่ตัวเมืองเชียงใหม่อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้เตรียมการโดยพร่องน้ำในคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตงเพื่อรองรับน้ำหลากดังกล่าว ไม่ให้มีผลกระทบต่อตัวเมืองเชียงใหม่
อนึ่ง ลำห้วยสำคัญที่มีผลกระทบต่อตัวเมืองเชียงใหม่ คือ ลำห้วยแก้วและลำห้วยช่างเคี่ยน ทางสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้นำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาติดตั้งเพื่อสูบน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่แม่แตง เพื่อไม่ให้น้ำที่หลากจาก 2 ลำห้วยดังกล่าว ไหลเข้าสู่ตัวเมืองเรียบร้อยแล้ว
สำหรับอุทกภัยที่จะเกิดผลกระทบต่อตัวเมืองเชียงใหม่ คือ แม่น้ำปิงสายหลักที่ไหลผ่านตัวเมือง หากมีปริมาณน้ำไหลในอัตรา 450 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะเริ่มเอ่อท่วมบริเวณลุ่มต่ำของตัวเมืองเชียงใหม่ทันที ทาง สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการเตรียมการโดยจะทำการแจ้งเตือน เมื่อปริมาณน้ำดังกล่าวไหลผ่านสถานีวัดน้ำที่ P.67 ที่บ้านแม่แต อำเภอสันทราย และจะไหลไปถึงสถานี P1 ที่สะพานนวรัฐภายใน 6 ชั่วโมง ดังนั้นจึงมีเวลาเพียงพอที่จะให้พี่น้องประชาชนในเขตลุ่มต่ำของตัวเมืองเชียงใหม่ได้ขนย้ายข้าวของที่สำคัญ และยานพาหนะขึ้นพ้นน้ำได้ รวมทั้งมีประตูระบายน้ำบริเวณ ตำบลท่าวังตาล ซึ่งมีขีดความสามารถระบายน้ำได้สูงสุดถึง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สามารถระบายน้ำออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์
ขอบคุณแหล่งที่มาของภาพและข่าว : https://siamrath.co.th/n/370391
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น